วัดกลางบางแก้ว
อะ สัง วิ สุโล ปุ สะ พุภะ พุทธะ สังมิ อิสวา สุ
ประวัติหลวงปู่เพิ่ม
พระพุทธวิถีนายก
พระพุทธวิถีนายก (เพิ่ม ปุญญวสโน) นามเดิมว่า เพิ่ม นามสกุล พงษ์อัมพร โดยบิดาชื่อ เกิด โยมมารดาชื่อ วรรณ ชาตะ ณ วันศุกร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 3 ปีจอ จุลศักราช 1248 ตรงกับวันที่ 28 เดือน มกราคม พุทธศักราช 2429 ณ ตำบลไทยวาส หมู่ที่ 3 อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ 8 ขวบ สืบต่อจนถึงเมื่ออายุครบได้อุปสมบทเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พุทธศักราช 2450 อายุ 21 ปี ณ พัทธสีมาวัดกลางบางแก้ว สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) ครั้งพระองค์ยังดำรงสมณศักดิ์เป็น สมเด็จพระวันรัต วัดสุทัศน์เทพวราราม เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการจอม เจ้าอาวาสวัดตุ๊กตา อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เป็นพระกรรมวาจารย์ พระครูทักษิณานุกิจ (ผัน) วัดสรรเพชญ์ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เมื่อท่านได้อุปสมบทแล้ว ก็ได้เล่าเรียนธรรมวินัยอยู่ที่วัดกลางบางแก้วตลอดมา และได้สั่งสอนกุลบุตรผู้บวชในภายหลังตามสมควร อาศัยอำนาจคุณความดีแห่งการปฏิบัติของท่านเป็นเหตุให้เกียรติคุณปรากฏแจ่ม แจ้งแก่คฤหัสถ์ชนทั้งหลาย มีการได้รับยกย่องเป็นลำดับมา คือวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2481 ได้รับแต่งตั้งเป็น เจ้าอาวาสปกครอง วัดกลางบางแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

วันที่ 4 ธันวาคม พุทธศักราช 2482 ได้รับตราตั้ง เป็นพระอุปัชฌาย์ ในเขตอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

วันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2483 ได้รับแต่งตั้ง เป็นเจ้าคณะอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม

วันที่ 1 มีนาคม พุทธศักราช 2489 ได้รับพระราช ทานสมณศักดิ์ที่พระครู มีราชทินนามว่า "พระครูพุทธวิถี นายก"

วันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2495 ได้รับเลื่อน สมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

วันที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2503 ได้รับพระราช ทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญมีราชทินนามว่า "พระ พุทธวิถีนายก"

ปีพุทธศักราช 2520 เนื่องจากความชราภาพมากแล้ว ทางคณะสงฆ์จึงยกขึ้นเป็นกิตติมศักดิ์

มรณภาพด้วยโรคชราด้วยอาการสงบ วันที่ 6 มกราคม พุทธศักราช 2526 เวลาใกล้รุ่ง (05.50 น.) รวมชนมายุได้ 97 ปี พรรษาที่ 77

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ดำรงสมณเพศอย่างเคร่งครัดด้วยศี ลาจารวัตรเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาแก่ประชาชนทั่วไป เสียสละตนเพื่อประโยชน์แก่สังคม สร้างคุณอเนกแก่กุลบุตร กุลธิดา ด้วยการก่อสร้างและทำนุบำรุงการศึกษาให้เจริญงอกงามไพบูลย์ นับว่าท่านได้สร้างคุณงามความดีไว้ไพศาลยิ่ง เมื่อกาลที่ท่านต้องจากไปก็ยังความเศร้าสลดแก่บรรดาสานุศิษย์และประชาชนที่ เคารพนับถือท่านอย่างยิ่ง
หลวงปู่คือผู้บริสุทธิ์ศีล
หลวงปู่คือผู้ ปฏิบัติธรรมเป็นอาจิณ
หลวงปู่สิ้น ไปสู่สุด หยุดเวียนวน

เป็นพระเถระผู้มีกรรมฐานเป็นชีวิตตลอดอายุอันยาวนานถึง 98 ปี ท่านเป็นสานุศิษย์ผู้ใกล้ชิดหลวงปู่บุญและอยู่ปฏิบัติรับใช้หลวงปู่บุญ

เมื่อท่านมีอายุเพียง 8 ปี ตั้งแต่เป็นสามเณรน้อยติดต่อตลอดมาจนหลวงปู่บุญมรณภาพ รวมเวลาที่ท่านอยู่ใกล้ชิดหลวงปู่บุญนานถึง 39 ปี ตลอดเวลาอันยาวนานนั้น ท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระ ตลอดจนเวทวิทยาคมต่าง ๆ ไว้มากมาย

ท่านมีชีวิตในเพศบรรพชิตนานถึง 90 ปี บริสุทธิ์ผุดผ่องด้วยศีลและสมาธิเป็นนิจ ปัญญาธรรมของท่านจึงเจิดจ้าแจ่มใสมีแต่ความเมตตาธรรม หมดสิ้นด้วยกิเลสตัณหานานาประการ ใครเคยพบเห็นท่านแล้วจะต้องได้รับแต่ความเยือกเย็นชุ่มชื่นใจอย่างน่า ประหลาดและซาบซึ้งตรึงใจไปนานเท่านาน ท่านไม่เคยมี โลภะ โทสะ โมหะ แจ่มใสด้วยดวงจิตบริสุทธิ์ตลอดเวลา ใครเคยเห็นเคยพบท่านทุกคนจะทราบประจักษ์แจ้งว่า ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องจริง ส่วนน้อยของกิตติคุณที่ท่านมีอยู่

“พระเถระผู้บริสุทธิ์ด้วยศีล” เช่น หลวงปู่เพิ่มหาได้ยาก ใน พ.ศ. ที่ผ่านมา พ.ศ. นี้ และ พ.ศ. ข้างหน้า ในเวลา 90 ปี ที่ท่านอยู่ในเพศบรรพชิต ศีลและสมาธิได้เผาผลาญกิเลสของท่านจนหมดสิ้น คงไว้แต่ปัญญาธรรมและดวงจิตที่บริสุทธิ์ การสร้างอิทธิวัตถุของท่านจึงมีพลังจากจิตอธิษฐานที่บริสุทธิ์ ย่อมมีอำนาจผนวกกับวิชาที่ท่านมีและญาณหยั่งรู้อันสูงส่ง วัตถุมงคลของท่านจึงมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก ท่านไม่เคยคุ้ยโม้โอ้อวด ไม่เคยบอกว่าของของท่านดี ท่านมักจะกล่าวอยู่แต่อย่างเดียวเสมอ ๆ ว่า “เก็บ ไว้ให้ดีนะจ๊ะ”หลวงปู่เป็นพระผู้เจรจาไพเราะ อ่อนหวาน นิ่มนวล สำเนียงของท่านมีแววความเมตตาผสานเอาไว้ท่วมท้น ฟังแล้วชุ่มชื่นใจ ใคร ๆ สนทนากับท่านแล้วก็รัก นับถือท่านอย่างประหลาด พูดง่าย ๆ ตามประสาชาวบ้านก็ว่า “ท่านน่ารักมาก”

ท่านให้แต่ธรรมและความเยือกเย็นแก่ทุกคน แม้กระทั่งแมว หมา เดินพันแข้งพันขา ท่านก็หลบหลีก อุ้มไปวางไว้ไม่เคยตีเคยปัด พูดกับสัตว์เหล่านั้นด้วยความไพเราะเหมือนกับเป็นคนหรือเป็นมนุษย์ด้วยกัน ท่านให้เหตุผลว่า เขามีทุกข์มีเคราะห์มากกว่าเรา จึงต้องเกิดมาเป็นสัตว์ อย่าไปเบียดเบียนรังแกเขาเลย ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า "ท่านรู้ไหมว่าสัตว์ต่าง ๆ แมว หมา เป็นต้น บางทีเป็นบรรพบุรุษของเรามาเกิดและพวกเราหากมีบาปมีเคราะห์ต่อไปอาจไปเกิด แบบเขาก็ได้ หลวงปู่เก่า (ท่านหมายถึงหลวงปู่บุญ) ท่านเคยชี้ให้ดูหมาในวัดว่าตัวนั้นชื่อนางนั่น ตัวนี้ชื่อนายนี่ บ้านอยู่แถบแม่น้ำมาเกิด ฉันเคยสังเกตดูเวลาลูกหลานของคนที่หลวงปู่เก่าท่านบอกว่ามาเกิดเป็นหมาตัว นั้นตัวนี้มาทำบุญที่วัด มันก็เข้าไปคลอเคลียกับลูกหลานที่มาทำบุญ ดูแล้วเห็นจะเป็นเรื่องจริง เรื่องแบบนี้หลวงปู่เก่าท่านชำนาญมองเห็นภพเห็นชาติของสรรพสัตว์ต่าง ๆ"

หลวงปู่เป็นพระที่ละอย่างเดียว ใครถวายของอะไรท่านแล้วท่านไม่สนใจ เมื่อมีพระมาคุยกับท่าน ท่านจะถวายต่อไป อาหารต่าง ๆ ก็คนที่มาถวายท่านจะแบ่งถวายไปให้พระองค์อื่น ๆ พวกของแห้งของใช้ท่านให้ผู้อื่นเป็นส่วนใหญ่เอาไว้ใช้แต่สิ่งจำเป็นเท่านั้น โดยเฉพาะอาหาร ท่านฉันแต่ของแห้ง ๆ และของเจท่านชอบเป็นพิเศษโดยเฉพาะเต้าหู้แต่ท่านก็มิใช่จะเลือกฉัน ใครถวายอะไรท่านก็ฉันมากบ้างน้อยบ้าง ท่านว่าเป็นพระต้องรับประเคน ใครจะทำบุญอะไรแล้วแต่เขาศรัทธา เป็นพระต้องละทั้งภายนอก และภายใน ภายนอกได้แก่สมบัติ ซึ่งเป็นของผลัดกันชม ไม่มีใครชมตลอดไป ตายไปแล้วคนอื่นก็มาชมกันต่อไปไม่จีรังยั่งยืน ของภายนอกเป็นการละอย่างง่าย ๆ ต้องทำให้ได้เสียก่อน ภายในได้แก่จิตใจ โลภะ โทสะ โมหะ ต้องละให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ค่อยเป็นค่อยไป เมื่อละได้ความพอจะเกิดขึ้น เมื่อความพอมี ความสุขความปกติก็เกิด ท่านว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะพระจำเป็นต้องมี เพราะพระไม่จำเป็นต้องสะสม จะสะสมไว้ทำไมเพราะผมบนศีรษะก็ตัดแล้ว เป็นอุทาหรณ์ให้รู้ว่าต้องตัดจากโลกภายนอก ต้องตัดให้ขาด

หลวงปู่มีธรรมะอยู่ในคำสนทนาเสมอ ใครเคยคุยกับท่านแล้วพิจารณาให้ดีจะมีประโยชน์มาก เพราะท่านจะแทรกธรรมปรัชญาไว้ทุกบททุกตอน ในแง่มุมต่าง ๆ กัน ท่านผู้อ่านเชื่อไหมว่า หลวงปู่เพิ่มท่านไม่เคยรู้ว่าหนัง ละคร ลิเก เขาเล่นหรือแสดงกันอย่างไร ท่านเคยถามผู้เขียนครั้งหนึ่งตอนที่วัดมีงานมีการละเล่นหลายอย่างว่า “หนัง” เป็นอย่างไร “ลิเก” เขาเล่นกันอย่างไร ทำไมคนชอบดูเหตุที่ท่านไม่รู้จักเพราะท่านไม่เคยลงจากกุฏิมาดูเลยแม้แต่ ครั้งเดียวตลอดชีวิต 98 ปีของท่าน ถึงแม้จะมีงานในวัดก็ตาม

ครับท่านละแล้วทั้งสิ้นเพื่อการปฏิบัติเยี่ยงพระสงฆ์ผู้ ดำเนินรอยตามพุทธองค์โดยแท้

หลวงปู่เพิ่มท่านมีกระแสแห่งญาณหยั่งรู้อันลึกซึ้งด้วย การบำเพ็ญเพียรมาเป็นเวลาช้านาน ดูเหมือนอำนาจหยั่งรู้ของท่านจะแก่กล้ามากเป็นทวี เพียงแต่ว่าบางอย่างท่านจะพูดหรือไม่เท่านั้น การเจรจาของท่านบางครั้งก็เป็นปริศนาทางธรรม หากฟังแล้วนำไปขบคิดก็จะพบว่าท่านมีความลึกซึ้งในทางธรรมยากที่จะหาผู้ใด เสมอเหมือน ความเมตตาอันล้ำลึกของท่านอยู่ที่รอยยิ้มและความเยือกเย็นนุ่มนวล ทำให้ผู้พบเห็นท่านมีแต่ความฉ่ำชื่นใจไม่รู้คลาย

นับได้ว่า อำนาจความหยั่งรู้ทางบารมีญาณของหลวงปู่เพิ่ม ท่านมีความแจ่มชัดและแม่นยำมากทีเดียว สามารถชี้แนะและล่วงรู้ถึงกาลเบื้องหน้าได้อย่างถูกต้องไม่มีผิดพลาด

หลวงปู่ท่านมักเป็นผู้ถ่อมตนและสังวรอยู่ในศีลาจาร วัตรอย่างเคร่งครัด หากไม่ใกล้ชิดไม่สังเกตแล้วมักจะไม่ทราบความเป็นอริยะทางการปฏิบัติของท่าน ในทางธรรมะได้เลย“หลวงปู่เพิ่ม” เป็นพระผู้มีความกตัญญูต่ออาจารย์เป็นที่สุดยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ การทำวัตรสวดมนต์ประจำวันของท่านจะต้องกระทำถึงสามแห่งด้วยกัน คือ ที่บูชาพระพุทธ ที่บูชาหลวงปู่บุญ และที่บูชาพระประจำตัวของท่าน ท่านทำของท่านเช่นนี้ตลอดอายุของท่านนานนับสิบปี ท่านปฏิบัติเช่นนี้มิมีขาดตกบกพร่อง บรรดาลูกศิษย์ของท่านทุกคนย่อมทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี

หากท่านผู้ใดเคยไปขอน้ำมนต์หรือขอพรศักดิ์สิทธิ์จากหลวง ปู่เพิ่มจะทราบว่าหลวงปู่เพิ่มท่านปฏิบัติอย่างไรและย่อมทราบว่าหลวงปู่ เพิ่มมีความถ่อมตนและกตเวทิตาต่อองค์อาจารย์ของท่านเป็นที่สุด กล่าวคือท่านจะให้คนที่ไปขอน้ำมนต์จากท่านไปจุดธูป เทียน ขอเอากับหลวงปู่บุญที่หน้าโต๊ะหมู่บูชารูปหลวงปู่บุญ ซึ่งอยู่บนกุฏิของท่าน ท่านจะบอกว่าให้ขอเอากับหลวงปู่บุญเถิด แล้วตักเอาน้ำมนต์ในตุ่มซึ่งวางไว้ข้างโต๊ะหมู่บูชานั้น แล้วแต่ว่าต้องการสิ่งใดก็อธิษฐานเอากับหลวงปู่บุญ หลวงปู่เพิ่มท่านปฏิบัติของท่านเช่นนี้เสมอมาตลอดชีวิต เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงกตเวทิตาคุณที่ท่านมีต่ออาจารย์ของท่าน ท่านเล่าว่าตุ่มน้ำมนต์ตุ่มนั้นเป็นน้ำมนต์ของหลวงปู่บุญ ซึ่งท่านเติมเอาไว้อยู่เสมอมิได้ขาด สืบต่อมาตั้งแต่เมื่อหลวงปู่บุญยังมีชีวิตอยู่ แม้ในปัจจุบันนี้น้ำมนต์ตุ่มนั้นทางวัดก็ยังคงรักษาเอาไว้ โดยเติมต่อไปมิได้ขาด มีผู้ศรัทธาเลื่อมใสไปขอกันอยู่เสมอ ปรากฏว่ามีผู้นำไปใช้ในทางต่าง ๆ ได้ผลดี จึงมีผู้คนไปขอกันมิได้ว่างเว้น

ความเยือกเย็นของหลวงปู่เพิ่มเป็นที่ประทับใจผู้พบเห็น ท่านเสมอ น้ำเสียงการเจรจาของหลวงปู่ไพเราะและนิ่มนวล ท่านมักจะพูดด้วยถ้อยคำ “จ๊ะจ๋า” เสมอ ๆ แบบคนโบราณทั่วไป ตลอดเวลาที่ผู้เขียนพบเห็นท่านมาไม่เคยเห็นท่านมีอารมณ์โกรธหรือดุด่าว่า กล่าวใครเลยสักครั้งเดียว บางเรื่องบางอย่างที่มีคนไปเล่าให้ท่านฟัง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจะทำให้ท่านมีอารมณ์โกรธ แต่ท่านก็กลับยิ้มแย้มแจ่มใสอย่างมากท่านก็ว่า “ก็แล้วแต่เขาทำกัน เถิด”

ในระยะหลังที่หลวงปู่ชราภาพมาก ๆ มีคนไปกวนให้ท่านทำเบี้ยแก้กันมาก ท่านก็ไม่เคยบ่นว่าให้คนที่ไปหาต้องเสียใจ ใครเอามาท่านก็ทำให้ทุกรายจนบางทีกลางค่ำกลางคืนท่านก็ต้องนั่งทำเบี้ยแก้ ให้คนมากมาย จนหลัง ๆ ท่านจึงถามคนที่ไปทำว่าไปเอาชันโรงใต้ดินที่ไหนมากันมากมาย คนที่ไปทำก็บอกว่าไปเอาที่พระปลัดใบ จากนั้นก็เลยมอบตำราและถ่ายทอดวิชาให้พระปลัดใบไปทำต่อ เพราะบรรดาศิษย์ขอร้องท่านให้หยุดทำ เนื่องจากเห็นว่าท่านชราภาพมากแล้วยังต้องมาทรมานทำเบี้ยอีก ประกอบกับสายตาท่านก็ไม่ค่อยดี ต้องเพ่งต้องเล็งกว่าจะลงอักขระได้แต่ละตัวซึ่งเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่ท่านก็ไม่เคยบ่น ไม่เคยว่าใคร
หลวงปู่เพิ่ม
ท่านได้สร้างวัตถุมงคงไว้ หลายชนิด ดังนี้

หลวงปู่เพิ่มท่านได้สร้างวัตถุมงคงไว้ หลายชนิด ดังนี้

เหรียญรุ่นแรกของหลวงปู่ , เหรียญรุ่นที่สอง , เหรียญรุ่นที่สาม , เหรียญรุ่นที่สี่ , เหรียญรุ่นที่ห้า , เหรียญรุ่นที่หก , เหรียญรุ่นที่เจ็ด , เหรียญรุ่นที่แปด , เหรียญรุ่นที่เก้า , เหรียญรุ่นที่สิบ , เหรียญรุ่นที่สิบเอ็ด , เหรียญรุ่นที่สิบสอง , เหรียญรุ่นที่สิบสาม , เหรียญรุ่นที่สิบสี่ , เหรียญรุ่นที่สิบห้า , เหรียญรุ่นที่สิบหก , เหรียญรุ่นที่สิบเจ็ด , เหรียญรุ่นที่สิบแปด (รุ่นสุดท้าย) , พระเครื่องเนื้อโลหะของหลวงปู่เพิ่ม , ล็อกเกต , พระเครื่องเนื้อผง , พระผงรุ่นที่ 2 , พระผงรุ่นที่ 3 , พระผงรุ่นที่ 4 , พระผงรุ่นที่ 5 , พระผงรุ่นที่ 6 , พระผงรุ่นที่ 7 , พระผงรุ่นที่ 8 , ผ้ายันต์ , รูปเหมือนขนาดบูชา 5 นิ้ว
เหรียญรุ่นแรกของหลวง ปู่

เหรียญรุ่นแรกของหลวงปู่เพิ่มที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ทั่วไปนั้นคือเหรียญรูปเสมา ปี พ.ศ. 2504 แต่ถ้าจะว่ากันแล้วเหรียญรุ่นแรกจริง ๆ ของหลวงปู่เพิ่มนั้นเป็นเหรียญสลึงเนื้อทองเหลือง ซึ่งท่านปลุกเสกและแจกจ่ายให้กับญาติโยมชาวนครชัยศรี เมื่อปี พ.ศ. 2501 เหรียญดังกล่าวเป็นเหรียญสลึงของรัฐบาลซึ่งใช้เป็นสตางค์นี่เอง ท่านเลือกเอาเหรียญเนื้อทองแล้วนำมาจาร “เฑาะว์มหาอุด” ไว้ด้านพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน แล้วปลุกเสกเนื่องในคราวที่มีชาวบ้านมาช่วยบูรณะปรับพื้นที่ดินของวัด รวมทั้งการถมสระน้ำใหญ่ของวัดด้วย เมื่อมีชาวบ้านมาช่วยทำบุญกันมากมาย ท่านไม่มีอะไรแจกท่านจึงนำเหรียญสลึงมาจารปลุกเสกแล้วแจกในโอกาสนั้น เหรียญดังกล่าวปัจจุบันหาดูได้ยากเพราะท่านทำไม่มากนัก ประกอบกับเมื่อชาวบ้านที่รับแจกไปแล้วนาน ๆ เข้า ลืมเห็นเป็นเหรียญสตางค์ธรรมดาก็ไม่ทันสังเกตรอยจารเฑาะว์มหาอุด ซึ่งจารไว้ตัวเล็ก ๆ จึงเอาไปใช้เป็นเงินจับจ่ายซื้อของ ลักษณะเช่นนี้มีมากและเหรียญสลึงของหลวงปู่จึงเริ่มเลือนไปจากความทรงจำได้ ไม่น้อยและเก็บรักษาเอาไว้ได้จนถึงปัจจุบันก็มีมาก
สำหรับเหรียญรุ่นปี พ.ศ. 2504 ซึ่งถือกันว่าเป็นเหรียญรุ่นแรกของหลวงปู่นั้นทำเมื่อคราวงานฉลองสมณศักดิ์ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2504 ในการเลื่อนสมณศักดิ์จากพระครูพุทธวิถีนายกเป็นพระราชาคณะที่ “พระพุทธวิถีนายก” ลักษณะเหรียญเป็นเหรียญเสมาด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่ห่มคลุมครึ่งองค์หน้าตรง ฝีมือการแกะใกล้เคียงกับภาพจริง มีความคมชัดมาก สองข้างพิมพ์เป็นลวดลายกนกทั้งสองด้านของขอบเหรียญ ด้านบนเป็นดอกประจำยามกึ่งกลางและซ้อนดอกไปสองข้างจนสุดขอบของเหรียญ ใต้รูปหลวงปู่มีอักษรไทยเขียนว่า “พระพุทธวิถีนายก” ด้านหลังเป็นยันต์นะโมพุทธายะแบบซ้อนตัวซึ่งบางคนเรียกว่า “พุทธซ้อน” ด้านล่างของยันต์มีอักษรไทยเขียนว่า “ที่ระลึกงานฉลองสมณศักดิ์ 28 มกราคม 2504 “ โดยแบ่งอักษรเป็น 4 แถว เหรียญรุ่นนี้มีจำนวนสร้าง 2,000 เหรียญ กะไหล่ทองทั้งหมด ส่วนเหรียญเงิน และทองคำมีสร้างจำนวนไม่มากนัก เฉพาะศิษย์ใกล้ชิดกับการสร้างเหรียญ สร้างเอาไว้ใช้กันเอง

เหรียญทุกเหรียญของหลวงปู่จะลงเหล็กจารด้านหลังเหรียญใน ส่วนมุมบนเป็นตัว “เฑาะว์มหาอุด” และมีบางเหรียญจะลง “อัง” ด้วยก็มีเป็นส่วนน้อย

หลวงปู่เพิ่มสร้างเหรียญหลวงปู่บุญ

เหรียญที่หลวงปู่เพิ่มสร้างเป็นรูปหลวงปู่บุญ ครั้งแรกคงจะเป็นเหรียญที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่บุญ แต่ก็ไม่จัดว่าหลวงปู่เป็นผู้สร้างโดยตรง เพราะมีคณะกรรมการหลายท่านร่วมกันทำขึ้น ทราบว่ามีคณาจารย์หลายองค์ที่เคารพนับถือหลวงปู่เข้าร่วมปลุกเสกจะเป็นท่าน ใดบ้างไม่มีหลักฐานพยานยืนยันได้แน่ชัด จึงจะเว้นกล่าวไว้ เพราะอาจจะผิดพลาดได้

ส่วนเหรียญหลวงปู่บุญที่หลวงปู่เพิ่มสร้างแน่นอนรวมทั้ง เป็นผู้ปลุกเสกแต่ผู้เดียวนั้น ครั้งแรกท่านสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2504 เช่นเดียวกันคือปีเดียวกับเหรียญรุ่นแรกของท่านนั่นเอง แต่ในอีก 2 เดือนถัดมาเนื่องในโอกาสเป็นที่ระลึกวันมรณภาพของหลวงปู่บุญ วันที่ 23 มีนาคม ดังนั้นเหรียญรุ่นนี้อาจจะจัดเป็นเหรียญรุ่นที่ 2 ของหลวงปู่เพิ่มก็ว่าได้ แต่การจัดลำดับของผู้เขียนถือเอาเหรียญรูปท่านเป็นหลัก จึงต้องเขียนถึงเหรียญรุ่นนี้แทรกเอาไว้ในส่วนนี้

เหรียญรูปหลวงปู่บุญ ปี พ.ศ. 2504 นี้ เป็นเหรียญเสมาขนาดเล็กรูปร่างทรงคล้ายเหรียญของหลวงปู่เพิ่มเพียงแต่ขนาด เล็กกว่ามาก ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่บุญห่มพาดสังฆาฏิ หน้าตรง มีอักษรไทยเขียนไว้ใต้รูป “พระพุทธวิถีนายก” ส่วนด้านหลังเป็นตัวอักขระ “เฑาะว์ขึ้นยอด” หรือบางท่านเรียกว่า “เฑาะว์มหาพรหม” ใต้อักขระจะมีตัวหนังสือภาษาไทย 4 แถว อ่านว่า “ที่ระลึกวันมรณภาพ (หลวงปู่บุญ) 23 มีนาคม 2504” จำนวนเหรียญที่สร้างครั้งนี้ 1,000 เหรียญเป็นเหรียญกะไหล่ทองทั้งหมด ทราบว่ามีเหรียญเงินเพียงเล็กน้อย

ด้านหลังของเหรียญทุกเหรียญส่วนมุมบนหลวงปู่เพิ่มจะจาร ตัว “เฑาะว์มหาอุด” เอาไว้ทุกเหรียญและท่านเป็นผู้ปลุกเสกแต่เพียงลำพังองค์เดียวเท่านั้น

เหรียญนี้จัดเป็นเหรียญที่ค่อนข้างหายากเหรียญหนึ่ง เพราะมีจำนวนสร้างเพียง 1,000 เหรียญเท่านั้น จัดว่าเป็นเหรียญที่มีประสบการณ์สูง พุทธคุณเยี่ยม ส่วนใหญ่จะพบเหรียญอยู่สภาพสึกจนบางเป็นส่วนมาก เพราะบางบ้านเมื่อได้รับไปมักจะใช้แขวนคอ โดยมิได้เลี่ยมและนิยมแขวนให้เด็ก ๆ เป็นส่วนมาก

ดังนั้นเหรียญรูปหลวงปู่เพิ่มรุ่นแรกและเหรียญรูปหลวงปู่ บุญรุ่นนี้จัดว่าเป็นเหรียญที่สร้างออกในปีเดียวกัน ต่างกันเพียง 2 เดือนเท่านั้น

เมื่อครั้งเหรียญรูปเหมือนหลวงปู่เพิ่มรุ่นแรก 2504 ออกใหม่ ๆ นั้น มีชาวบ้านแถบตำบล สัมปทวน อำเภอนครชัยศรี ได้รับไปแล้วไปเกิดมีประสบการณ์ขึ้นโดยผู้มีเหรียญของหลวงปู่เพียงเหรียญ เดียว ใส่กระเป๋าเสื้อเอาไว้ โดยคู่อริยิงด้วยปืนลูกซองหลายนัดยิงไม่ออก ข่าวได้แพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว เหรียญที่เหลืออยู่ที่วัดจึงหมด ภายในเวลาไม่กี่วันเท่านั้นเอง

ครั้นเมื่อเหรียญหลวงปู่บุญรุ่น 2504 ที่หลวงปู่เพิ่มสร้างในเดือนมีนาคม ออกมาก็เกิดมีชาวบ้านแถบหอมเกร็ด ซึ่งอยู่ชายแม่น้ำนครชัยศรี เอาไปแขวนคอให้ลูกเล็ก ๆ ต่อมาพ่อแม่ไม่อยู่ออกไปสวนกลับมาถึงบ้านเห็นบ้านเงียบ ๆ จึงร้องเรียกหาลูกปรากฏว่าไม่พบจึงเดินหา ปรากฏว่าพบว่าลอยอยู่ในแม่น้ำริมท่าน้ำหน้าบ้าน เด็กไม่จมน้ำเป็นที่อัศจรรย์จึงทำให้เหรียญรุ่นนี้ที่หลวงปู่สร้างไว้หมดไป อีกในเวลารวดเร็วเช่นเดียวกัน

เหรียญรุ่นแรกของหลวงปู่เมื่อหมดไปจึงเป็นที่ต้องการของ บรรดาลูกศิษย์และผู้เคารพนับถือท่านอีกจำนวนมากซึ่งยังไม่ได้ ผู้ที่ได้เอาไว้ต่างหวงแหน จึงทำให้เหรียญรุ่นนี้ของหลวงปู่มีค่ามากขึ้นและค่อนข้างจะหาได้ยากใน ปัจจุบัน

คุณไสว รอดอุ่ม บ้านอยู่ราชบุรี เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังเมื่อหลายปีมาแล้วว่า เป็นศิษย์ของหลวงปู่คนหนึ่ง เพราะมาบวชที่วัดกลางบางแก้ว 1 พรรษา ต่อมาไปทำมาหากินอยู่ที่ราชบุรี แขวนเหรียญหลวงปู่รุ่นแรก 2504 เพียงเหรียญเดียวเท่านั้น มิใช่เป็นนักสะสมพระเครื่องจึงยึดมั่นแต่หลวงปู่ เพราะถือว่าหลวงปู่เท่านั้นที่เป็นพระเถระที่น่าศรัทธาเลื่อมใส เป็นพระแท้ผู้บริสุทธิ์ด้วยศีล เขาจึงมั่นใจในความศักดิ์สิทธิ์ของเหรียญหลวงปู่ยิ่งนัก คุณไสว เล่าว่าทำมาหากินไม่เคยมีเหตุขัดข้องหรืออุปสรรค ราบรื่นมาตลอด คราวใดที่มีปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็มักนึกถึงบารมีของหลวงปู่ให้ช่วยสงเคราะห์ การณ์ต่าง ๆ ก็ราบรื่นไปด้วยดี ตัวเขาเองเคยประสบอภินิหารเหรียญหลวงปู่ 3 ครั้งด้วยล้วนเป็นเรื่องอัศจรรย์อย่างเหลือเชื่อ  ครั้งแรกคุณไสวเล่าว่า เป็นที่มีโรคอหิวาต์ระบาดทางราชการให้ชาวบ้านไปฉีดยาวัคซีนป้องกัน ตัวเขาและภรรยาตลอดจนลูก ๆ ก็พากันไปทั้งครอบครัวเพื่อฉีดยา ครั้นพอตัวเขาเข้าไปหาพยาบาลเพื่อให้ฉีดยาที่แขน ปรากฏว่าพยาบาลกดเข็มฉีดยาไม่เข้าเนื้อจนเข็มโค้งงอ จึงได้ถามเขาว่ามีของดีอะไรจึงฉีดยาไม่เข้า ตัวเขาเองก็ตกใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะไม่ตั้งใจว่าจะอวดของดีกับพยาบาล แต่ก็นึกขึ้นได้ว่าในคอของเขามีเหรียญหลวงปู่แขวนอยู่เพียงเหรียญเดียวเท่า นั้น จึงเอาออกจากคอ พยาบาลเห็นก็ถามว่า “หลวงพ่ออะไร” คุณไสวเล่าว่าก็บอกกับพยาบาลไปว่าเป็นเหรียญของหลวงปู่เพิ่มวัดกลางบางแก้ว พยาบาลได้ยินก็บอกกับเขาขอให้สักเหรียญไม่ได้หรือ เขาตอบไปว่ามีเพียงเหรียญเดียว ถ้าอยากได้ให้ไปหาพลวงปู่ที่วัดก็ได้ เมื่อเขาถอดเหรียญออกจากคอแล้ว ปรากฏว่าคราวนี้ฉีดเข้าสบายมาก คุณไสวยืนยันว่าเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของเขา ท่ามกลางสายตาของคนที่มาฉีดยาหลายคนและพยาบาล เมื่อเขาฉีดยาออกมาที่มีคนที่เห็นเหตุการณ์เข้ามาถามกันหลายคนว่าเขาแขวนพระ อะไร จึงได้ศักดิ์สิทธิ์ขนาดฉีดยาไม่เข้า เขาก็บอกไปว่าเป็นเหรียญของหลวงปู่

หลังจากประสบการณ์ครั้งแรกแล้ว คุณไสว เล่าว่า เดิมเขาเอาเหรียญหลวงปู่อัดพลาสติกเอาไว้ จึงต้องเอาเหรียญที่แขวนอยู่ไปเลี่ยมทอง เมื่อรวบรวมเงินได้ในเวลาต่อมา เพราะเห็นความศักดิ์สิทธิ์ของเหรียญหลวงปู่ด้วยตาตนเอง คุณไสวเล่าต่อว่า อีกครั้งหนึ่งเมื่อเขาไปตลาดเช้าที่ราชบุรีซึ่งอยู่เชิงสะพานธนะรัตน์ริมแม่ น้ำแม่กลอง ขณะสาระวนกับการซื้อขายของอยู่ปรากฏว่าไม่ทราบว่า เหรียญหลวงปู่ขาดหายเสียที่ไหน เขาเล่าว่าใจหายเมื่อรู้ว่าสายสร้อยขาดทั้ง ๆ ที่เป็นสายสร้อย สแตนเลสเพราะเสียดายเหรียญหลวงปู่ที่เลี่ยมทองเอาไว้อย่างดี คุณไสวเล่าว่าตอนเช้าก่อนออกจากบ้านในวันนั้นเหรียญยังแขวนอยู่กับสายสร้อย เพราะสายสร้อยออกมานอกเสื้อ เขาก็หยิบเอาไว้ในเสื้อ แต่พอตอนสายใกล้จะกลับบ้าน จึงรู้ว่าสายสร้อยขาดหาย เขาเล่าว่าอุตส่าห์เดินหาบริเวณตลาดทั่วไปที่มีผู้คนมากมาย เหยียบย่ำก็ไม่พบ นึกเสียใจมากเมื่อกลับบ้านแล้วก็กินข้าวปลาอาหารไม่ลง เพราะนึกถึงอยู่แต่เหรียญหลวงปู่ซึ่งเป็นเหรียญที่เขารับมากับมือของท่าน ตกตอนเย็นวันนั้น เขาจึงไม่รู้จะทำประการใดนอกจากเอาธูปมาจุดกลางแจ้งอธิษฐานถึงหลวงปู่เพิ่ม ว่าหากตัวเขายังมีบุญและเหรียญหลวงปู่ยังจะอยู่กับเขาอีกต่อไป ขอให้ได้เหรียญคืนในเร็ววันอธิษฐานแล้วก็ปักธูปไว้กลางแจ้ง

วันรุ่งขึ้นคุณไสว รีบออกจากบ้านแต่เช้ามืดกว่าทุกวัน เอาไฟฉายไปด้วยเดินส่องหาตามพื้นตลาดทุกซอกทุกมุม เพราะยังมีคนมาตลาดไม่มาก หาอย่างไรก็ไม่พบจนอ่อนใจและคิดว่าตัวเองคงหมดบุญมีเหรียญหลวงปู่เป็นแน่จึง หาไม่พบ และตั้งใจว่าอีก 2-3 วัน จะต้องไปนครชัยศรีไปกราบหลวงปู่และขอเหรียญใหม่จากท่าน

หลังจากวันที่เหรียญหลวงปู่หาย 2 วัน คุณไสวได้เล่าว่าใจคอของเขาไม่เป็นปกติคิดถึงแต่เหรียญหลวงปู่ไม่ว่าจะทำงาน หรือยามนอนก็ตาม จึงตัดสินใจว่าจะต้องไปหาหลวงปู่ในเช้าวันนั้น พออกจากบ้านก็ไปคอยรถเมล์ ก็มีแม่ชีคนหนึ่งเดินเข้ามาหาเขาบอกว่าจะไปหาญาติที่นครปฐม ขอเงินค่ารถจากคุณไสว แม่ชีคนนั้นคุณไสวเล่าว่าอายุมากแล้ว เขาจึงสงสารล้วงกระเป๋าสตางค์ออกมาใจหนึ่งก็นึกว่าทำบุญไปด้วย เพราะกำลังมีทุกข์ที่เหรียญหลวงปู่ในคอขาดหายไป หยิบธนบัตร 20 บาทหนึ่งใบ ใบละ 10 บาท อีกหนึ่งใบเป็น 30 บาท ส่งให้แม่ชีคนนั้น แม่ชีคนนั้นก็ยกมือไหว้เขาก่อนรับเงิน และเมื่อรับเงินไปแล้วก็ส่งถุงสีน้ำตาลเล็ก ๆ ให้เขาหนึ่งใบ บอกกับเขาว่าให้เก็บเอาไว้ให้ดี และขอบใจที่มีใจสงสารคนแก่ทำบุญให้ทาน พร้อมทั้งอวยพรให้ต่าง ๆ ให้เขามากมาย

คุณไสวเล่าว่าเมื่อรับถุงสีน้ำตาลมานั้น รู้สึกว่ามีของหนัก ๆ ในถุง และเมื่อแม่ชีชราคนนั้นเดินจากไปแล้ว เขาก็คงคอยรถเมล์ต่อไป จนกระทั่งรถเมล์มาก็ขึ้นรถเมล์เพื่อไปลงนครชัยศรี ขณะที่นั่งบนรถเมล์เขาจึงล้วงเอาถุงสีน้ำตาลเล็ก ๆ ที่ใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อออกมาเปิดดูว่าข้างในจะเป็นอะไร และทันทีที่เขาคลี่ลอยพับถุงกระดาษสีน้ำตาลออกแล้วเปิดดูนั้นก็พบกับความ ตื่นตะลึงในสิ่งของที่บรรจุอยู่ในถุงใบนั้น

เหรียญหลวงปู่เพิ่มเลี่ยมทอง ซึ่งเขาทำสร้อยขาดหายที่ตลาด ขณะนี้อยู่ในถุงสีน้ำตาลในมือของเขานี่เอง

ขณะที่เขาพบเหรียญของเขาในถุงซึ่งรับมาจากมือของแม่ชีที่ ท่ารถเมล์ราชบุรีนั้น รถเมล์วิ่งมาถึง “เจ็ดเสมียน” ตำบลระหว่างทางเขาได้สติจากตื่นตลึง จึงรีบลุกขึ้นขอลงตรงนั้นเพื่อกลับไปยังท่ารถเมล์ราชบุรีอีกครั้ง ในใจคิดแต่เพียงว่า 30 บาท ที่เขาให้แม่ชีชราผู้นั้นมันน้อยเกินไปเสียแล้ว จะต้องสมนาคุณให้มากกว่านั้น เพราะเฉพาะค่าของทองที่เลี่ยมเหรียญหลวงปู่นั้นก็หลายร้อยบาทแล้ว และค่าของเหรียญหลวงปู่ที่สุดจะประมาณอีกเล่า

คุณไสวนั่งรถเมล์กลับมายังท่ารถเมล์ราชบุรีตามเดิมในช่วง เวลาไม่นานนัก เขาเดินหาแม่ชีชราทั่วบริเวณนั้นปรากฏว่าไม่พบ แม่ชีบอกเขาว่าจะไปนครปฐม แต่ในรถเมล์ราชบุรี – กรุงเทพฯ ซึ่งผ่านนครปฐมและนครชัยศรี ไม่มีแม่ชีชราผู้นั้นเลย และเมื่อเขากลับมาหาที่ท่ารถเมล์อีกครั้งจนทั่วก็ไม่พบ ใจของเขานึกว่า แม่ชีชราจะต้องพักอยู่วัดมหาธาตุ ราชบุรี หรือไม่ก็คงเป็นวัดเขาวัง เพราะเป็นวัดที่มีแม่ชีอยู่มาก

วันนั้นเขามีความดีใจและตื่นตะลึงต่อความอัศจรรย์ดัง กล่าวมาก คุณไสวเล่าบารมีความศักดิ์สิทธิ์ของเหรียญหลวงปู่เพิ่มน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง วันรุ่งขึ้นเขาคาดว่าแม่ชีคงกลับจากธุระที่นครปฐมแล้ว จึงไปหาที่วัดมหาธาตุ และวัดเขาวังจนทั่วทั้งสองวัดแต่ก็ปรากฏว่าไม่พบทั้งสองแห่ง หลังจากครั้งนั้นแล้วคุณไสวก็ติดตามไปหาอีกหลายต่อหลายหน ก็ไม่มีวี่แววของแม่ชีชราคนนั้นมาจากไหนกันแน่และแกพบเหรียญของหลวงปู่เพิ่ม ที่เขาทำหล่นหายได้อย่างไร

ประสบการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องน่าแปลกมาก คงด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของเหรียญกับจิตใจที่ศรัทธาอย่างมั่นคงของนายไสว จึงทำให้ได้เหรียญหลวงปู่กลับคืนมาอีกครั้ง เรื่องวัตถุมงคลของหลวงปู่หายนี้มีประสบการณ์มากหลายรายและเมื่อจิตใจของ เจ้าของมั่นคงและปรารถนาจะได้คืนก็มักจะได้กลับคืนมาอยู่เสมอ

อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นครั้งที่สามจากประสบการณ์ของคุณไสว คืออุบัติเหตุจากรถยนต์ คุณไสวเล่าว่าตั้งใจว่าจะเดินทางไปประจวบคีรีขันธ์ เพื่อติดต่อทางการค้า โดยขับรถปิคอัพไปเอง ขณะขับไปถึงท่ายางเพชรบุรี เกิดมีรถจักรยานยนต์ออกมาจากข้างทางตัดหน้ากระชั้นชิด ตัวแกตกใจเกรงว่าจะชนจักรยานยนต์ จึงตัดสินใจหักพวงมาลัยเต็มที่รถวิ่งเข้าชนต้นไม้ข้างถนนเต็มแรง พ้นจากชนจักรยานยนต์ แต่รถต้องเสียหายยับเยินพวงมาลัยรถอัดแน่นกับหน้าอกกระจกแตกกระจาย แต่ปรากฏว่าไม่มีบาดแผลหรืออาการเจ็บปวดในส่วนใดของร่างกายเลยแม้แต่น้อย สภาพรถขนาดนั้นคนที่มามุงดูและช่วยเขาออกจากรถ ต่างลงความเห็นว่าไม่น่ารอดชีวิตมาได้เลย เพราะชนเต็มที่จนหน้ารถยุบพังเข้ามาเกือบถึงกระจกหน้า เครื่องรถแตกใช้การไม่ได้ คราวนั้นคุณไสวว่าเสียเงินซ่อมรถไปจำนวนไม่น้อย แต่ก็ยังดีที่ไม่ต้องเสียเงินซ่อมสุขภาพอีกด้วย

เหรียญหลวงปู่เพิ่มรุ่นแรก 2504 นี้ มีพุทธคุณเข้มขลัง ดังมานานโดยเฉพาะในบรรดาชาวนครชัยศรี ใครมีก็ต่างหวงแหนโดยเฉพาะผู้ที่เป็นศิษย์บวชกับหลวงปู่ หากมีใครไปขอหรือแบ่งปันเช่าบูชา ส่วนมากเขาจะไม่ให้และบอกว่า “เหรียญนี้เป็นเหรียญอุปัชฌาย์ให้ไม่ได้” ประสบการณ์มีในลักษณะต่าง ๆ มากมาย หากจะนำมาเล่ากันก็ไม่จบสิ้นง่าย ๆ จึงขอเล่าไว้แต่เพียงนี้ ก็คงจะชี้ให้เห็นได้เป็นอย่างดีถึงพุทธคุณของเหรียญหลวงปู่

เหรียญรุ่นที่สอง

เหรียญรุ่นที่สองของหลวงปู่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2506 คือ อีก 2 ปีถัดต่อมานั้นเอง การสร้างเหรียญครั้งนี้ก็เนื่องด้วย เหรียญรุ่นแรกมีคนไม่ได้จำนวนมาก และมีผู้ประสงค์อยากจะได้อีกจำนวนไม่น้อย จึงได้มีการจัดสร้างขึ้น เป็น 3 แบบ ด้วยกันคือเหรียญเสมาเล็ก สีขาว เนื้ออัลปาก้า เหรียญนี้มีจำนวนสร้าง 2,000 เหรียญ ลักษณะเหรียญเป็นเหรียญเสมาขนาดเล็ก ด้านหน้ามีรูปหลวงปู่ครึ่งองค์ หน้าตรงห่มสังฆาฏิ ส่วนบนของขอบเสมามีตัวหนังสือเป็นแถวตรงว่า “หลวงพ่อเพิ่ม” ด้านหลังที่ส่วนล่างของยันต์มีตัวหนังสือเป็นแถวโค้งตามแนวของเหรียญว่า “วัดกลางบางแก้ว”เหรียญเสมาใหญ่รมดำ มีรูปร่างลักษณะเหรียญเหมือนเหรียญรุ่นแรกทุกประการ เพราะว่านำเอาบล็อกเก่าของรุ่นแรกมาสร้างใหม่อีกครั้งหนึ่ง ด้านหลังยังคงเป็นปี พ.ศ. 2504 แต่นำมาสร้างปั๊มในปี 2506 จำนวนสร้าง 1,000 เหรียญเหรียญเสมาใหญ่ทองแดง ไม่กะไหล่ทองหรือรมดำ เป็นเนื้อทองแดง มีผิวไปเป็นบล็อกเก่าของเหรียญรุ่นแรก 2504 มาปั๊มเช่นเดียวกัน จำนวนสร้าง 1,000 เหรียญ
สำหรับข้อสังเกต ของเหรียญรุ่น 2506 แบบเสมาใหญ่ซึ่งนำเอาบล็อกเก่าของเหรียญรุ่น

แรกมาปั๊มนี้ จะมีข้อแตกต่างกันคือ ของรุ่นแรกมีเฉพาะกะไหล่ทองเท่านั้น ส่วนรุ่นสองเป็นรมดำ และไม่กะไหล่ทองไม่รมดำเป็นเนื้อทองแดงธรรมดาออกสีแดงแบบมีผิวไฟ นอกจากนี้ยังสังเกตได้โดยเปรียบเทียบกับเหรียญที่ปั๊มครั้งแรกรุ่นแรกได้ โดยพิจารณาจากความหนา รุ่นสองจะหนากว่ารุ่นแรกเล็กน้อย และเมื่อพิจารณาด้วยกล้องจะพบพื้นผิวของเหรียญ รุ่นสองจะมีรอยพรุนไม่เรียบเหมือนรุ่นแรก ตัวหนังสือไม่คมชัดเหมือนรุ่นแรก อักษรบางตัวจะขาดไปบ้าง ส่วนรูปหลวงปู่ด้านหน้าก็เช่นเดียวกัน ความคมชัดจะสู้รุ่นแรกไม่ได้คงจะเนื่องด้วยบล็อกเก่าซึ่งทิ้งเอาไว้ 2 ปีมาแล้ว คงจะมีการเกิดสนิมหรือกัดกร่อนไปบ้าง นอกจากนั้นยังพิจารณาได้จากเส้นแนวตะเข็บบนพื้นเหรียญรุ่นสองจะมีเส้นเล็ก ๆ เป็นแนวขีดอยู่ประปราย ส่วนรุ่นแรกจะไม่มี

ถึงแม้ว่าการสร้างเหรียญรุ่นสอง 2506 นี่จะนำเอาบล็อกเหรียญรุ่นแรกมาปั๊มอีกจนมีหลายคนกังขาว่าจะดูยากลำบากไม่ รู้ว่ารุ่นไหนเป็นรุ่นไหนก็ตาม แต่หากพิจารณาอย่างละเอียดตามที่ได้กล่าวมาแล้วก็จะทำให้สามารถแยกเหรียญ ทั้งสองรุ่นนี้ได้

เหรียญรุ่นสองทั้งหมดที่สร้างขึ้นสามแบบซึ่งมีจำนวนรวม กันเป็นจำนวน 4,000 เหรียญนี้ หลวงปู่ท่านก็ลงเหล็กจารตัว “เฑาะว์” มหาอุดเอาไว้ด้านมุมบนของเหรียญทุกเหรียญแล้วจึงทำการปลุกเสกจนได้ครบไตรมาส จึงได้นำออกมาแจกจ่าย หากจะพูดถึงพุทธคุณแล้วก็คงไม่แตกต่างกันกับเหรียญรุ่นแรก เพราะหลวงปู่ปลุกเสกเช่นเดียวกัน

ประสบการณ์ทางพุทธคุณของเหรียญหลวงปู่เพิ่มรุ่นที่สองที่ มีประสบการณ์มากเช่นกันโดยเฉพาะเหรียญแบบเสมาใหญ่ ทั้งแบบรมดำและทองแดงไม่ดำ จึงทำให้เหรียญซึ่งสร้างจำนวนไม่มากนักหมดไปอย่างรวดเร็วและคงเป็นด้วย เหรียญรุ่นนี้เป็นบล็อกเดียวกับเหรียญรุ่นแรกมีความคล้ายคลึงกัน ผู้ที่แสวงหารุ่นแรกจริง ๆไม่ได้จึงหันมาบูชาเหรียญรุ่นนี้แทนก็อาจจะเป็นไปได้

การสร้างเหรียญและปลุกเสกเหรียญของหลวงปู่ท่านทำอย่าง พิถีพิถัน ผู้เขียนเคยดูท่านหลายครั้งก่อนอื่นท่านจะเอาเหรียญที่ทำมาจากโรงงานใส่บาตร เอาไว้บาตรหนึ่ง แล้วเอาบาตรเปล่ามาวางเคียงคู่กัน จากนั้นท่านจะเอาเหล็กจารมาจาร “เฑาะว์มหาอุด” ลงบนเหรียญการจารของท่านมิใช่ว่าเพียงแต่จารหรือขีดเขียนลงไปเท่านั้น ขณะจารท่านจะเรียนสูตรภาวนาไปในขณะนั้นด้วย ท่านทำของท่านเช่นนั้นทีละเหรียญ ถึงแม้เหรียญรุ่นสองจะมีจำนวนถึง 4,000 เหรียญ ท่านก็จะทำเช่นนั้นจนครบเรียกว่า 4,000 เที่ยว ผู้เขียนเคยถามท่านว่า วันนี้หลวงปู่ทำไมไม่ลงเหรียญ บางทีท่านก็บอกว่าวันนี้ฤกษ์ไม่ดี ดังนั้นนอกจากท่านจะจารแล้ว ก่อนจารแต่ละวันและเวลาท่านจะต้องกำหนดดูฤกษ์ยามอันเหมาะสมด้วย เหรียญที่ท่านจารแล้ว ท่านจะเอาไปใส่ไว้ในอีกบาตรหนึ่ง ท่านจารของท่านไปเรื่อย ๆ ไม่รีบร้อนนานหลายวันกว่าเหรียญในบาตรเต็มจะลงไปในอีกบาตรหนึ่งซึ่งว่าง เปล่าเต็มซึ่งหมายถึงเหรียญเหล่านั้นได้ลงจารหมดแล้ว

หลังจากหลวงปู่ท่านจารครบหมดทุกเหรียญแล้ว ท่านจะให้ลูกศิษย์เอาบาตรไปวางไว้หน้าที่บูชาพระของท่าน แล้วท่านก็จะปลุกเสกไปตลอดไตรมาสในวันและเวลาที่ไม่เหมือนกัน บางวันท่านปลุกเสกเช้า บางวันกลางคืน เรื่องนี้ท่านก็เคยเล่าว่า บางวันฤกษ์ดีการทำของขลังจะได้ผลประสิทธิ์ บางวันฤกษ์ไม่ดีปลุกเสกอะไรก็ไม่ได้ผลจริงจัง ท่านก็ไม่ทำ เรื่องโหราศาสตร์และฤกษ์ยามนี้หลวงปู่มีความชำนิชำนาญเป็นพิเศษ คนที่เคยไปกราบสักการะท่านคงจะทราบดีโดยเฉพาะคนนครชัยศรี สมัยเมื่อท่านมีชีวิตอยู่ ใครจะทำอะไร ตั้งแต่โกนผมไฟ ไปจนถึงแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ มักจะไปขอฤกษ์จากท่าน

ข้าง ๆ หลวงปู่จะมีกระดานชนวนแผ่นใหญ่และแท่งดินสอพองแท่งใหญ่ ท่านมักจะหยิบเอาแท่งดินสอพองมาขีดเขียนบนกระดานชนวนไปมาลงเลขต่าง ๆ สักครู่หนึ่งแล้วบอกฤกษ์ให้แก่ผู้ไปขอฤกษ์บางครั้งท่านก็เอากระดานชนวนขึ้น มาดูแล้วขีดเขียนเพียงนิดหน่อยก็สามารถให้ฤกษ์ได้ บางครั้งท่านก็นั่งนับนิ้วโดยไม่ใช้กระดานชนวนก็มี ผู้เขียนเคยถามท่าน ท่านบอกว่า บางวันฤกษ์ท่านดูเอาไว้แล้ว ช่วงไหนเป็นอย่างไร เมื่อมีคนมาขอก็จะบอกได้ทันที

นอกจากการให้ฤกษ์ดังกล่าว หลวงปู่ยังเป็นนักพยากรณ์ด้วยความแม่นยำเหมือนตาเห็น เรื่องคนเจ็บไข้ได้ป่วย เมื่อมีคนไปหาท่าน ท่านจะถามวันเดือนปี แล้วท่านก็ขีดเขียนบนกระดานชนวนไปมาแล้วก็สามารถพยากรณ์ได้ว่าคนนั้น คนนี้จะหายเมื่อใด หรือรักษาไม่หายจะต้องแก้ไขความเจ็บไข้นั้นอย่างไร เรื่องนี้หลวงปู่ชำนาญมาก

ครั้งหนึ่งมีคนทางท่าตำหนักมาหาหลวงปู่แล้วเล่าให้หลวง ปู่ฟังว่าบิดาของเขาอายุยังไม่มากนัก อยู่ดี ๆ เกิดล้มลงแล้วมีอาการตายตามแขนขามือเท้า ไม่รู้สึกเป็นเหมือนอัมพาต แต่สามารถพูดจาได้ ท่านนั่งฟังคนที่มาเล่า แล้วท่านก็ถามวันเดือนปีเกิดของคนไข้ ลูกชายคนไข้ที่มาเล่าให้ฟังก็บอกว่าจำไม่ได้ จึงขอตัวกลับไปบ้านอีกสักครู่กลับมาบอกท่าน ผู้เขียนขณะนั้นบวชอยู่กับท่านด้วย เห็นท่านเอากระดานชนวนขึ้นมาขีดเขียนด้วยแท่งดินสอพองสักครู่หนึ่งแล้วท่าน ก็พยากรณ์ว่า “ลมเพลมพัด” เอาน้ำมนต์หลวงปู่เก่าในตุ่มไปกินแล้วอาบแล้วพ่อเธอจะหาย อีก 5 วัน เธอจุดธูปขอเอากับหลวงปู่เก่าท่านเถิด

คำว่า “หลวงปู่เก่า” ของหลวงปู่เพิ่มที่ท่านกล่าวนั้นหมายถึง หลวงปู่บุญ ท่านเรียกว่าหลวงปู่เก่าเสมอ ๆ คนนั้นก็หายลงไปข้างล่างแล้วกลับขึ้นมาพร้อมกับขวดเปล่าตรงไปที่หน้าโต๊ะ หมู่บูชา ซึ่งมีตุ่มน้ำมนต์เก่าแก่ สมัยหลวงปู่บุญตั้งอยู่ข้าง ๆ เขาจุดธูปเทียนบูชาพระและขอน้ำมนต์จากหลวงปู่บุญแล้วก็กรอกน้ำมนต์ใส่ขวด กลับไป

หลังจากนั้นอีกไม่นานผู้เขียนจำได้ว่าสักประมาณอาทิตย์ หนึ่งเห็นคนนั้นกลับมาอีก เอาดอกไม้ธูปเทียนและถาดใส่ผลไม้มาถวายหลวงปู่ ด้วยความอยากรู้ของผู้เขียนจึงเข้าไปนั่งฟังอยู่ใกล้ ท่าน เขามารายงานว่าเอาน้ำมนต์ไปให้บิดาอาบ – กิน แล้ว พอถึงวันที่ 6 จากวันที่หลวงปู่บอก บิดาของเขาก็มีอาการดีขึ้น ขณะนั้นเขาบอกว่าเริ่มจะเดินได้บ้างเล็กน้อย ขยับแขนขาได้แล้ว หลวงปู่ฟังแล้วท่านก็บอกว่า “เมื่อหายแล้วเธอให้พ่อใส่บาตรทำบุญอุทิศไปให้เจ้ากรรมนายเวรเขาเสียนะ”

เมื่อคนนั้นกลับไปแล้ว ผู้เขียนเข้าไปถามหลวงปู่ว่า ท่านรู้ได้อย่างไรว่าเขาจะหายได้ภายใน 5 วัน ท่านบอกว่าเกณฑ์อายุคนหากพิจารณาจากโหราศาสตร์ให้ดีแล้วก็อาจจะพยากรณ์ได้ ว่าเขามีเคราะห์อย่างไรบ้าง เป็นเคราะห์ชั่วคราวหรือเคราะห์กรรมที่แก้ไม่ได้ แต่ต้องอาศัยอย่างอื่นประกอบด้วย ผู้เขียนจึงถามท่านว่าอย่างอื่นที่หลวงปู่ว่านั้นหมายถึงอะไร ท่านไม่ตอบได้แต่ยิ้ม ๆ ผู้เขียนก็ถามย้ำท่านอีก ท่านจึงกล่าวว่า “รู้เฉพาะตน”

เหรียญรุ่นที่สาม

เหรียญรุ่นนี้ออกเมื่อปี พ.ศ. 2513 ห่างจากรุ่นที่สอง 7 ปี ลักษณะเป็นเหรียญกลมขนาดเท่าเหรียญสลึง (สมัยเก่า) ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่ครึ่งองค์ ด้านหลังเรียบ จะมีรอยลายมือของหลวงปู่จาร “เฑาะว์มหาพรหม” หรือ “เฑาะว์มหาอุด” บางทีก็มีตัว “อัง” กำกับด้วย จำนวนที่สร้างประมาณ 1,000 เหรียญกะไหล่ทองทั้งหมด เหรียญรุ่นนี้นับว่าเป็นเหรียญที่หายากและมีคนรู้จักน้อย คงเป็นเพราะมีจำนวนสร้างไม่มากก็อาจจะเป็นได้ นอกจากนี้ก็จัดว่าเป็นเหรียญรุ่นที่มีประสบการณ์และอภินิหารแก่ผู้นำไปบูชา สักการะ หรือแขวนคอมากอีกเหรียญหนึ่ง มีบางคนเข้าใจผิดเคยได้ยินคนอื่นเล่าว่าเหรียญรุ่นแรกของปู่จริง ๆ แล้วเป็นเหรียญสลึง (หมายถึงของจริงเป็นเหรียญสลึงจริง ๆ ที่หลวงปู่นำมาจารแจก ดังได้กล่าวไว้แล้วในตอนต้น) เมื่อเห็นเหรียญรุ่นแรก พ.ศ. 2504 ตามที่กล่าวมา มีการถกเถียงกันเกิดขึ้น ความจริงเหรียญรุ่นนี้มีขนาดเท่าเหรียญสลึง แต่มิได้หมายถึงเป็นเหรียญสลึงที่หลวงปู่เคยแจกเมื่อปี พ.ศ. 2501 เหรียญรุ่นนี้เป็นเหรียญรุ่นที่สามซึ่งสร้างใน พ.ศ. 2513 จึงขอนำมากล่าวไว้เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด

เหรียญรุ่นที่สี่

เหรียญหลวงปู่เพิ่ม รุ่นที่ 4 เว้นห่างจากเหรียญรุ่นที่ 3 นานถึง 4 ปี จึงมีการสร้างขึ้นโดยพระปลัดใบ คุณวีโร กับผู้เขียนเป็นผู้ไปติดต่อช่างเจริญ (ขณะนั้นอายุ 71 ปี) ร้านสุพรรณศิลป์ ถนนตะนาว กรุงเทพฯ เป็นผู้แกะแบบพิมพ์ ช่างเจริญผู้นี้มีฝีมือแกะเหรียญดีมาก เป็นช่างเก่าแก่ เหรียญวัดสุทัศน์รุ่นเก่า ๆ มักจะแกะโดยช่างเจริญ ขณะผู้เขียนไปติดต่อนั้น คุณลุงเจริญเลิกแกะแล้วเพราะสายตาไม่ค่อยดี แต่ด้วยอยากได้ฝีมือแกะดีผู้เขียนและพระปลัดใบจึงอ้อนวอนจนท่านมีความเมตตา บอกว่าขอแกะให้เป็นงานชิ้นสุดท้าย แต่จะรีบร้อนไม่ได้เหรียญรุ่นนี้จึงไปให้ท่านแกะให้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2516 เพื่อให้ใช้ทันงานทำบุญวันเกิดหลวงปู่เพิ่มครบรอบ 89 ปี ในปี พ.ศ. 2517 การแกะพิมพ์ใช้เวลานานถึง 2 เดือนเต็ม จึงเริ่มลงมือปั๊มได้เหรียญรุ่นนี้จัดว่าเป็นเหรียญที่มีความงามมากที่สุดใน จำนวนเหรียญทุกรุ่นและใบหน้าหลวงปู่มีความเหมือนมาก ถึงแม้จะแกะเป็นรูปนั่งสมาธิเต็มองค์ ใบหน้ามีขนาดเล็กแต่ก็มีความเหมือนมีชีวิตชีวา นับว่าไม่เสียโอกาสที่ให้ช่างเจริญนายช่างฝีมือเยี่ยมผู้มีวัยสูงบรรจงแกะ เป็นงานชิ้นสุดท้ายของท่าน

เหรียญรุ่นที่ 4 ซึ่งออกในงานทำบุญวันเกิดเดือนมกราคม 2517 นี้เป็นเหรียญรูปพัดยศของหลวงปู่ ตรงกลางเป็นรูปหลวงปู่นั่งสมาธิเต็มองค์ ห่มพาดสังฆาฏิรอบขอบเป็นลายกนกเช่นเดียวกับพัดยศชั้นเจ้าคุณของท่าน ด้านพื้นข้างองค์ของหลวงปู่เป็นลวดลายพื้นพัดเช่นกัน ช่องลายใต้ฐานมีอักษรไทยเป็นเลขไทยตัวเล็ก ๆ เขียนว่า “17”  หากไม่สังเกตให้ดีจะมองไม่เห็น ตัวเลขนี้แสดงถึงปี พ.ศ. 2517 นั่นเอง ด้านหลังของเหรียญเป็นยันต์ “นะโมพุทธายะ”  แบบพุทธซ้อนตรงกลางแล้วมีอักษรไทยเขียนด้านล่างอ่านว่า “หลวงปู่เพิ่มอายุครบ 89 ปี” บรรทัดล่างอ่านว่า “วัดกลางบางแก้ว” ส่วนมุมบนข้างขอบเหรียญจะมีรอยหลวงปู่ลงจาร “เฑาะว์มหาอุด” บางอันก็จะลง “เฑาะว์มหาพรหม” แบบเฑาะว์ขึ้นยอดก็มี เหรียญรุ่นนี้ตัดขอบชิดลายแบบไม่มีห่วง ฝีมือแกะแบบตื้น ๆ แต่ลายละเอียดคมชัด

ใบหน้าของหลวงปู่สังเกตด้วยกล้องจะพบว่ามีชีวิต และมีเค้าหน้าเหมือนชนิดใกล้เคียงมากทีเดียว ลวดลายของเส้นมีศิลป์งดงาม จึงนับว่าเป็นเหรียญที่มีความงดงามมาก

เนื้อของเหรียญชนิดทองแดงพระปลัดใบ และผู้เขียนได้รวบรวมแผ่นยันต์ที่หลวงปู่เป็นผู้ลงจารจำนวนหลายแผ่นกับ ตะกรุดเก่า ๆ ไม่ทราบหลวงพ่อและพระบูชาหัก ๆ ชนวนพระชัยวัฒน์หลวงปู่บุญ โลหะสัมฤทธิ์เก่า ๆ หลายชนิด เอาไปหลอมหล่อผสมกับทองแดงแล้วจึงปั๊มเป็นเหรียญรุ่นนี้ขึ้น ได้จำนวน 3,000 เหรียญ มีเศษเหลือนิดหน่อย ผู้เขียนจำไม่ได้ แต่ไม่ถึง 100 เหรียญ ทองแดงที่ผสมเทเป็นแผ่นไว้ก็หมดลง จึงยุติลงแค่นั้น เหรียญทองแดงที่ปั๊มได้ทดลองตัดขอบครั้งแรกให้ช่างทำพิมพ์ตัดหยักตามลายด้าน ขอบล่างแต่การตัดลำบาก จึงทำพิมพ์ตัดใหม่ไม่หยักตาม ลาย เหรียญที่ตัดตามหยักลายทำได้เพียงสามเหรียญเท่านั้นเอง นอกนั้นทีเหลือจึงตัดเรียบตามแนวขอบทั้งหมด เหรียญรุ่นนี้ชนิดทองแดงกะไหล่ทองหมดทุกเหรียญ

นอกจากเหรียญเนื้อทองแดง 3,000 เหรียญดังกล่าวแล้ว ยังได้สร้างเหรียญชนิดเนื้อเงิน โดยเอาชนวนของเหรียญทองแดงผสมลงในเนื้อเงินเล็กน้อยแล้วปั๊มเอาไว้ได้ 90 เหรียญเท่านั้น

ขณะนี้เหรียญทั้งชนิดทองแดงกะไหล่ทองและเหรียญเนื้อเงิน หมดไปจากวัดหลายปีแล้ว เป็นเหรียญที่มีประสบการณ์ดีเยี่ยมมากเหรียญหนึ่ง ผู้ที่มีไว้ต่างก็หวงแหน เพราะนอกจากเป็นเหรียญสวยงามมากแล้ว ยังมีพุทธคุณดีอีกด้วย

เหรียญรุ่นสี่จึงจัดว่าเป็นเหรียญรุ่นที่ดีทั้งเนื้อ เหรียญและมีความงดงาม นับว่าเป็นเหรียญรุ่นเดียวของหลวงปู่ที่มีการผสมทำเนื้อเหรียญเป็นพิเศษ รวมทั้งการปลุกเสกและลงจารด้วยมือหลวงปู่ครบทุกเหรียญ ใครมีไว้เป็นโชคดีจงเก็บรักษาไว้ให้ดีเถิด เพราะจัดเป็นเหรียญรุ่นเดียวที่หลวงปู่ลงจารแผ่นยันต์หลอมเนื้อเหรียญด้วย องค์ท่านเองและยังมีตะกรุดหลวงปู่บุญ ตลอดจนมงคลวัตถุอื่น ๆ ผสมอยู่เนื้อของเหรียญอีกด้วย หรือใครมีโอกาสพบเห็นจงรีบเก็บไขว่คว้าเอาไว้โดยไว

ประสบการณ์ของเหรียญรุ่นสี่นี้ที่แน่ ๆ คือ ทางแคล้วคลาดและเมตตามหานิยม มีคนประสบมาไม่น้อย คุณครูแสวง สินยังผล เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า หลังจากมาบวชกับหลวงปู่แล้วก็ได้แขวนเหรียญรุ่นสี่ของหลวงปู่เพียงเหรียญ เดียวเท่านั้น เพราะหาเหรียญรุ่นแรกไม่ได้ประกอบกับชอบเหรียญรุ่นนี้เพราะมีความสวยงาม จึงอัดพลาสติกแขวนคอประจำ มีประสบการณ์ทางด้านเมตตามหานิยมดีมากจนตนเองประหลาดใจ และมีอยู่ครั้งหนึ่งขณะขี่รถจักรยานยนต์ออกจากบ้านตอนเช้าจะไปสอนหนังสือ รถบรรทุกสองคันวิ่งแซงกันมาสวนกับจักรยานยนต์ของคุณแสวงสุดวิสัยจะหักหลบทัน ปรากฏว่ารถบรรทุกคันที่แซงมาแทนที่จะเลือกชนจักรยานยนต์ของคุณแสวงกลับหัก เข้าหารถบรรทุกด้วยกันชนกันสนั่นหวั่นไหวตกลงไปข้างถนนทั้งคู่ คนขับรถบรรทุกคันที่แซงไม่ได้รับบาดเจ็บมากนัก แต่คนขับรถคันที่ถูกชนบาดเจ็บสาหัส พอดีกับตำรวจจราจรอยู่ใกล้ ๆ กันนั้นมาทันเหตุการณ์ คนขับรถคันที่แซงจึงหนีไม่ทันโดนจับไป คุณแสวงเล่าต่อไปว่า เขาหยุดดูเหตุการณ์ตลอดจนตำรวจจับคนขับรถก็เข้าไปดู และได้ยินคนขับพูดว่าเขากลัวจะชนต้นไม้ใหญ่จังหักเข้าไปชนรถบรรทุกอีกคัน หนึ่งซึ่งเขาแซงขึ้นมา แต่เมื่อชนแล้วขึ้นมาดูก็แปลกใจว่าบริเวณนั้นไม่มีต้นไม้ใหญ่เลยแม้แต่ต้น เดียวทำไมเขาจึงเห็นมีต้นไม้ใหญ่ได้ นับว่าเป็นเรื่องแปลกมาก คุณครูแสวงเล่าว่าตัวเขาเองขณะเกิดเหตุการณ์นั้นตกใจมากหักหลบไม่ทันในใจนึก ว่าแหลกเหลวแน่ แต่ก็พ้นเหตุการณ์วิกฤตมาได้ด้วยบารมีของเหรียญหลวงปู่เพิ่มที่แขวนในคอ เพียงเหรียญเดียวเท่านั้น

เหรียญรุ่นที่ห้า

เหรียญรุ่นที่ห้าสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2518 คือปีถัดมาจากเหรียญรุ่นที่สี่ เนื่องในโอกาสทำบุญอายุครบ 90 ปี เป็นเหรียญรูปไข่ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่ครึ่งองค์ หน้าตรงห่มพาดสังฆาฏิ มีลวดลายขอบเหรียญสองชั้น ชั้นในเป็นเม็ดไข่ปลาเล็ก ๆ ชั้นนอกเป็นกนก ด้านหลังเป็นยันต์ “นะโมพุทธายะ” แบบพุทธซ้อนแล้วมีอักษรไทยเขียนรอยยันต์อ่านว่า “พระพุทธวิถีนายกเพิ่ม ปุญญวสโน อายุ 90 ปี วัดกลางบางแก้ว” ตรงกลางระหว่างอักษรมีดอกจันทร์แบบขีด ขอบเหรียญเป็นเส้นลวดด้านในมีจุดไข่ปลา รอบนอกด้านบนตรงกลางมีตัวเลขไทยเป็นเลข “1” และด้านล่างกึ่งกลางเป็นตัวเลข “8” ซึ่งหมายถึงปี พ.ศ. 2518 นั่นเอง

เหรียญรุ่นนี้แกะแม่พิมพ์โดยนายช่างสนั่น ผู้เขียนจำนามสกุลไม่ได้เสียแล้ว โรงงานอยู่ข้างวัดเครือวัลย์ ธนบุรี ช่างสนั่นผู้นี้มีฝีมือดีมาก เป็นช่างเก่าแก่คนหนึ่ง เคยแกะเหรียญดัง ๆ มาหลายเหรียญที่จำได้ก็มีเหรียญหลวงพ่อคง วัดบางกระพ้อม รุ่นแรกเป็นต้น ดังนั้น เหรียญรุ่นนี้นับว่ามีฝีมือการแกะงดงามมากเหรียญหนึ่ง

จำนวนเหรียญที่สร้างเป็นเนื้อทองแดงรมดำจำนวน 5,000 เหรียญ เงิน 100 เหรียญ รุ่นนี้มีจำนวนมาก เมื่อนำไปให้หลวงปู่ปลุกเสก ท่านจะลงจารแต่ปรากฏว่าสายตาท่านเริ่มไม่ดีแล้ว เพราะขณะนั้นอายุ 90 ปี และจำนวนเหรียญก็มาก ท่านจึงไม่ได้ลงเหล็กจารเพียงแต่ปลุกเสกให้นานนับเดือนจนท่านบอกว่าใช้ได้ เหมือนกับลงเหล็กจารทีละเหรียญ

นอกจากเหรียญรูปเหมือนแล้วในปีนี้พระปลัดใบ คุณวีโร ยังได้สร้างพระทรงเครื่องแบบสมัยอยุธยา โดยจำลองจากพระไม้แกะเก่าแก่ของวัดแล้วให้อาจารย์อวบ สาณะเสน เป็นผู้ออกแบบลายซุ้มแม่พิมพ์  แล้วพิมพ์ลงในแผ่นทองแดงเป็นพระแบบไม่มีห่วงจำนวน 2,000 องค์ นำให้หลวงปู่ปลุกเสกพร้อมกับเหรียญรูปเหมือน ด้านหลังขององค์พระเป็นยันต์ “เฑาะว์ขึ้นยอด” แล้วมีอักษรไทยเขียนว่า “หลวงปู่เพิ่ม อายุ 90 ปี ว.ก.” คำว่า “ว.ก.” หมายถึงวัดกลางบางแก้ว

ทั้งเหรียญเนื้อทองแดงรมดำและเงิน ตลอดจนพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบอยุธยาดังกล่าว ขณะนี้ทางวัดยังมีเหลือให้ทำบุญอยู่เล็กน้อย

นอกจากเหรียญรูปไข่หลวงปู่เพิ่มรุ่นที่ห้าและพระทรง เครื่องแบบอยุธยาดังกล่าวแล้ว ในปีนี้ยังมีการหล่อเหรียญรูปพระพุทธขึ้นอีก 2 แบบด้วยกัน เหตุที่เป็นเหรียญรูปพระพุทธซึ่งสร้างในปี พ.ศ. 2518 จึงขอจัดรวมไว้ในการลำดับเหรียญหลวงปู่รุ่นที่ห้ารวมไว้ด้วย การจัดเหรียญลำดับรุ่นขอยึดเอารูปหลวงปู่เป็นหลัก หากไม่ใช่รูปหลวงปู่เพิ่มก็จะจัดรวมไว้ในรุ่นเดียวกับเหรียญรูปหลวงปู่เป็น เกณฑ์สำคัญ เช่นเดียวกับเหรียญรูปพระพุทธรูปเชียงแสน หรือ “สัมพุทธมหามุนีฯ” และเหรียญรูปพระพุทธชินราช ทั้งสองเหรียญนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2518 จึงขอนำมากล่าวถึงไว้ในส่วนนี้

เหรียญพระพุทธชินราช ซึ่งสร้างในปี พ.ศ. 2518 นี้ ทางวัดกลางบางแก้วมิได้สร้างเอง แต่พระมหาบุญเลิศ ปริปุณโณ พระภิกษุภายในวัดกลางบางแก้วรูปหนึ่งซึ่งย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสวัดบ่อตะกั่ว เป็นผู้สร้างขึ้นถวายให้หลวงปู่แจกฟรี จำนวนผู้เขียนจำไม่ได้แน่นอนว่าจะเป็น 1,000 เหรียญ หรือเท่าใดยังไม่แน่นัก

ลักษณะเหรียญเป็นรูปเสมาคล้ายเหรียญชินราชของหลวงปู่บุญ แต่ฝีมือการแกะแตกต่างกันมาก ด้านหน้าเหรียญเป็นองค์พระพุทธชินราช มีอักษรขอมเขียนด้านบนอ่านได้ว่า “พุทโธ” ด้านหลังเหรียญเป็นยันต์สี่อ่านได้ว่า “นะ มะ พะ ทะ” ตรงมุมทั้งสี่ของยันต์ และตรงกลาง อ่านได้ว่า “อะ ระ หัง” และ “อัง อึ อะ” ขอบสุดท้ายด้านบนมีอักษรขอมอ่านได้ว่า “พ พ พ” หมายถึง “เพิ่ม พงษ์อัมพร” อันเป็นชื่อและนามสกุลเดิมของหลวงปู่ บรรทัดถัดมาอ่านว่า “พุทธะสังมิ” และสองบรรทัดใต้ยันต์อ่านได้ว่า “อิ สวา สุ” “ปุญญวสโน”

เนื้อเหรียญเป็นเหรียญทองแดงไม่มีกะไหล่หรือรมดำ และเนื้อนวโลหะอีกจำนวนหนึ่งแต่ไม่มากนัก (ขณะนี้เหลือให้ทำบุญอยู่เล็กน้อย) ขณะแจกได้มีคาถาพิมพ์แจกคู่กับเหรียญด้วยคาถาดังกล่าวเป็นคาถาอาราธนาและพระ พุทธชินราชของหลวงปู่เพิ่มมีความว่า “กาเยน วาจาย เจตสา วา ชินราชพุทธะ รูปัง สิริธัมมะติปัฏกราเชน กะตัง นะมาหัง สัพพะ โสตถี ภวันตุเม”

ขณะนี้เหรียญรุ่นนี้ได้รับความนิยมสูงเพราะเมื่อหลวงปู่ แจกหมดไปแล้วก็มีประสบการณ์กับผู้นำเหรียญไปบูชาจำนวนมากรายและปัจจุบันค่อน ข้างจะหาได้ยาก

“เหรียญพระสัมพุทธมหามุนี พุทธวิถีนายกปุญญวสนนิมมิต” เป็นรูปพระพุทธรูปเชียงแสน ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ขนาดมาตรฐานเนื้อทองแดงรมดำ ด้านหน้าเหรียญเป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน สิงห์หนึ่งประทับนั่งแบบมารวิชัยบนอาสนะบัวคว่ำบัวหงาย พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระประจำตัวของหลวงปู่เพิ่ม ซึ่งหลวงปู่เพิ่มได้ทำพิธีหล่อเมื่อปี พ.ศ. 2490 เนื่องจากหลวงปู่ได้เศียรพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนเป็นสัมฤทธิ์เก่าและเป็นของ สมัยเชียงแสนแท้มาจากนายตำรวจท่านหนึ่งมีลักษณะพระพักตร์งดงามมาก จึงได้ทำการหล่อองค์ขึ้นมาให้เข้ากับลักษณะของพระเศียร โดยทำพิธีหล่อเมื่อปี พ.ศ. 2490 แล้วนิมนต์พระศรีสัจจาญาณมุนี (สนธิ์) วัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งเป็นศิษย์หลวงปู่บุญ และสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์ฯ มาร่วมทำพิธีด้วย พระดังกล่าวมีขนาดหน้าตักกว้าง 30 นิ้วฟุต เหรียญนี้ผู้เขียนเข้าใจว่าจะจำลองรูป “พระสัมพุทธมหามุนีพุทธวิถีนายกปุญญวสนนิมมิต” มาทำเป็นเหรียญก็ได้ ใต้รูปองค์พระด้านหน้าเหรียญมีอักษรเป็นตัวเลขไทยเขียนว่า “2518” ซึ่งหมายถึงปี พ.ศ. ที่สร้างเหรียญ ส่วนด้านหลังเหรียญมีอักษรเขียนโค้งตามแนวขอบเหรียญด้านล่างว่า “พระพุทธวิถีนายก เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว” เท่านั้น ไม่มีอักขระเลขยันต์ใด ๆ ทั้งสิ้น ขณะนี้ยังสืบหาคนสร้างถวายไม่ได้ จำนวนสร้างจึงไม่ทราบว่าเท่าใดแน่นอน แต่มีตกค้างเหลือที่วัดในขณะนี้ประมาณ 80 เหรียญเท่านั้น

เหรียญรุ่นที่หก

สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสทำบุญ อายุครบ 91 ปีของหลวงปู่ ปี พ.ศ. 2519 โดยพระปลัดใบ คุณวีโร และผู้เขียนได้นำแบบไปให้นายช่างสนั่น โรงงานใกล้วัดเครือวัลย์ ธนบุรี เป็นผู้แกะแบบพิมพ์ และปั๊มขึ้นเหรียญรุ่นนี้สร้างเป็นสามแบบคือ รูปหลวงปู่เพิ่มแบบหนึ่ง และรูปหลวงปู่บุญอีกสองแบบ

เหรียญรูปหลวงปู่บุญนั้นเป็นเหรียญรูปไข่มีรูปหลวงปู่บุญ นั่งเต็มองค์ ด้านหน้าด้านใต้รูปมีอักษรไทยเขียนไว้ว่า “หลวงปู่บุญ” ลักษณะการนั่งแบบสมาธิขัดราบห่มพาดสังฆาฏิ ขอบเหรียญเป็นเส้นลวดด้านนอกและมีจุดไข่ปลาเล็ก ๆ ด้านใน ด้านหลังเหรียญเป็นยันต์ “นะโมพุทธายะ” แบบไขว้ ตรงกลางยันต์มีตัว “เฑาะว์” ชั้นยอดและมี “มะอะอุ” ตรงปลายยันต์ ด้านล่างของยันต์มีอักษรไทยเขียนไว้ว่า “วัดกลางบางแก้ว” จำนวนที่สร้างเป็นทองแดงรมดำ 2,000 เหรียญ ไม่รมดำ 2,000 เหรียญ นวโลหะ 500 เหรียญ

เหรียญรูปหลวงปู่เพิ่มลักษณะเป็นเหรียญกลมขนาดกลาง ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่ครึ่งองค์ หน้าตรงห่มสังฆาฏิ มีขอบสองชั้นมีอักษรไทยเขียนไว้ใต้รูปว่า “หลวงปู่เพิ่ม” ด้านหลังเป็นยันต์ “นะโมพุทธายะ” แบบพุทธซ้อน และมีอักษรไทยใต้ยันต์ว่า “วัดกลางบางแก้ว” จำนวนสร้างเป็นเนื้อทองแดงรมดำ 2,000 เหรียญ  และไม่รมดำ 2,000 เหรียญ  นวโลหะ 300 เหรียญ กะไหล่ทอง 200 เหรียญ

จำนวนเหรียญที่สร้างครั้งนี้จึงมีถึง 9,000 เหรียญ หลวงปู่ไม่สามารถลงเหล็กจารได้ครบทุกเหรียญ จึงมอบให้ท่านปลุกเสกให้นานจนท่านบอกว่าใช้ได้แล้วจึงนำออกแจกจ่ายในงานทำ บุญวันเกิดท่านในปี พ.ศ. 2519 ขณะนี้เหรียญรุ่นนี้ยังมีเหลือที่วัดอีกจำนวนหนึ่ง

นอกจากเหรียญสองแบบดังกล่าวแล้ว ในปีนี้ได้มีการสร้างเหรียญรุ่นเฉพาะกรรมการที่ช่วยงานวัดเป็นเหรียญหลวงปู่ บุญรูปไข่ หน้าตรงครึ่งองค์ ขนาดรูปไข่มาตรฐาน ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปหลวงปู่บุญครึ่งองค์ ด้านบนของเหรียญมีอักษรว่า “พระพุทธวิถีนายก (บุญ ขันธโชติ)” อักษรด้านล่างขอบเหรียญใต้รูปหลวงปู่เขียนว่า “วัดกลางบางแก้ว” ส่วนด้านหลังเป็นยันต์ “นะโมพุทธายะ” แบบยันต์เต่า และมีอักขระ “มะอะอุ” ด้านบนยันต์ “เฑาะว์มหาอุด” ด้านซ้ายของยันต์ ส่วนด้านขวามี “เฑาะว์มหาพรหม” ใต้ยันต์มีอักขระ “อัง” สำหรับขอบบนมีอักษรไทยเขียนว่า “ที่ระลึกเฉพาะกรรมการจัดงานนมัสการหลวงปู่บุญ” ขอบเหรียญด้านล่างเขียนว่า “2519 องค์” หมายถึงสร้างขึ้น 2,519 เหรียญ ปี พ.ศ. เหรียญทั้งหมดกะไหล่ทอง หลังจากแจกกรรมการแล้ว ขณะนี้ยังเหลืออยู่ที่วัดประมาณ 1,500 เหรียญ ยังมีคนมาขอทำบุญไปเสมอเพราะเป็นเหรียญรูปหลวงปู่บุญมีความงดงามและมี ประสบการณ์ด้านโชคลาภ

เหรียญหลวงปู่เพิ่มรุ่นที่เจ็ด

เหรียญรุ่นที่เจ็ดสร้างขึ้นเดือนพฤษภาคม 2519 ปีเดียวกับเหรียญรุ่นที่หกห่างกันเพียงไม่กี่เดือน โดย “คณะชาวย้อม” โรงงานทอผ้าไทยโทเรไทม์มิลล์ ซึ่งมีโรงงานใกล้กับวัดกลางบางแก้ว คนงานในแผนกย้อมมีความศรัทธาเลื่อมใสหลวงปู่เพิ่ม จึงร่วมกันจัดผ้าป่าสามัคคีเพื่อทอดถวายหลวงปู่ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2519 โดยในงานนี้ได้จัดสร้างเหรียญที่ระลึกมอบให้ผู้ทำบุญส่วนหนึ่ง และถวายให้วัดเอาไว้ส่วนหนึ่ง


ผู้ดำเนินงานชื่ออะไรผู้เขียนจำไม่ได้เสียแล้ว ได้ติดต่อมายังผู้เขียนว่าจะสร้างเหรียญอย่างไรจึงสวยงาม ผู้เขียนจึงรับปากว่าจะมอบให้ อาจารย์อวบ สาณะเสน เป็นผู้ออกแบบให้ และต่อมาได้ติดต่ออาจารย์อวบ สาณะเสน เป็นผู้ออกแบบเหรียญรุ่นนี้โดยใส่ลวดลายกนกเอาไว้สองข้างของดอกบัวตรงกลาง ใต้รูปหลวงปู่ซึ่งห่มพาดสังฆาฏิด้านหน้าเอียงสี่สิบห้าองศา ขนาดของเหรียญเป็นเหรียญรูปไข่ขนาดกลางพอเหมาะ เมื่อออกแบบเสร็จแล้วได้มอบให้ช่างสนั่น โรงปั๊มข้างวัดเครือวัลย์ ธนบุรี เป็นผู้แกะแบบพิมพ์และปั๊มเหรียญ

ลักษณะเหรียญด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่ครึ่งองค์ เอียงข้างห่มพาดสังฆาฏิมีดอกบัว และลายกนกสองข้าง ไม่มีอักษรใด ๆ ส่วนด้านหลังเป็นยันต์นะดมพุทธายะ แบบพุทธซ้อน แต่ขึ้นยอดหลายชั้นตรงกลางขอบข้างด้านบนมีอักษรไทยเขียนว่า “พระพุทธวิถีนายกเพิ่ม ปุญวสโน วัดกลางบางแก้ว” ส่วนด้านล่างมีอักษรเขียนตามแนวโค้งขอบเหรียญว่า “ที่ระลึกงานทอดผ้าป่าสามัคคีชาวย้อม 1 พ.ค. 19”

เหรียญรุ่นนี้ปั๊มเป็นเนื้อนวโลหะ 99 เหรียญ มีเลขตอกเรียงลำดับเหรียญทุกเหรียญ เนื้อทองแดงจำนวน 2,000 เหรียญ มอบให้หลวงปู่ปลุกเสกเป็นเวลานานก่อนงานทอดผ้าป่า เสร็จแล้วแจกให้กรรมการและผู้ร่วมทอดผ้าป่าที่เหลือจึงมอบให้เป็นสมบัติของ วัด

ในงานทอดผ้าป่าครั้งนี้คณะกรรมการได้อัดภาพสีมีอักษรไทย เขียนไว้บนภาพ มอบให้หลวงปู่ปลุกเสกแจกกับผู้ร่วมงานทำบุญอีกจำนวนหนึ่งด้วย

เหรียญรุ่นที่เจ็ดนี้นับว่ามีประสบการณ์ทางด้านความ ศักดิ์สิทธิ์มากอีกเหรียญหนึ่ง คนงานโรงงานไทโทเรฯที่ได้รับแจกไป รอดพ้นจากอันตรายอันน่าหวาดเสียวมาหลายต่อหลายราย เล่าให้ผู้เขียนฟังแต่ไม่ได้จดบันทึกเอาไว้และลืมไปเสียมาก ส่วนใหญ่จะมีพุทธคุณทางเมตตาและแคล้วคลาด

เหรียญหลวงปู่เพิ่มรุ่นที่แปด

เหรียญรุ่นนี้สร้างในปี พ.ศ. 2520 เรียกว่า “รุ่นพิเศษ” ลักษณะเป็นเหรียญรูปกลม ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่นั่งสมาธิเต็มองค์สวมแว่นตา ด้านหน้ามีอักษรไทยเขียนไว้ตามแนวขอบเหรียญใต้รูปหลวงปู่ว่า “หลวงปู่เพิ่ม (เพิ่ม ปุญญวสโน) วัดกลางบางแก้ว” ด้านบนขอบเหรียญตรงห่วงมีลวดลายกลม ๆ ไว้เล็กน้อย ส่วนด้านหลังเป็นยันต์นะโมพุทธายะแบบพุทธซ้อน ตรงกลางเหรียญมีเส้นขีด ๆ คล้ายพัดยศอยู่โดยรอบ และมีอักษรไทยเขียนว่า “2520” ด้านซ้าย “รุ่นพิเศษ” ด้านขวามีลายดอกประจำยามด้านบน 1 คู่ ด้านล่าง 1 คู่ จำนวนเหรียญที่สร้างเท่าใดไม่ทราบแน่ชัด เป็นเนื้อทองแดงรมดำ เหตุที่จำนวนเหรียญและรายละเอียดต่าง ๆ ไม่ทราบแน่ชัดเพราะผู้เขียนได้ติดตามถามหลายฝ่ายแล้วไม่มีใครทราบว่าเหรียญ รุ่นนี้ใครดำเนินการสร้าง แต่ขณะนี้ก็เหลือที่วัดอีกพอสมควร

นอกจากรุ่นที่แปดจะสร้างเหรียญ “รุ่นพิเศษ” แล้ว ในรุ่นนี้มีสร้าง “เหรียญดวง” ขึ้นอีก 2 พิมพ์ด้วยกัน คือ พิมพ์แรกเป็นเหรียญกลมไม่มีห่วง ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่ครึ่งองค์ หน้าเอียง ด้านหลังเหรียญเป็นรูปดวงแล้วมีอักขระด้านบนของเหรียญว่า “นะโมพุทธายะ” และอักษรไทยขอบเหรียญด้านล่างว่า “หลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน อายุ 92 ปี” ส่วนอีกพิมพ์หนึ่งลักษณะเหมือนพิมพ์แรกทุกประการเพียงแต่ด้านบนมีปลายแหลม ต่อขึ้นไปจากส่วนกลมแล้วมีตัวอุณาโลมอยู่ด้านหน้าด้านหลังเป็นตัว “เฑาะห์” มีรัศมีและมีห่วง ส่วนด้านล่างวงกลมมีปลายแหลมลงมา เหรียญนี้คนเรียกว่า เหรียญดวง จำนวนสร้างแบบละ 1,000 เหรียญ รวม 2,000 เหรียญ เนื้ออัลปาก้ามีทั้งกะไหล่ทองและไม่กะไหล่ทอง

เหรียญรุ่นที่เก้า

เหรียญรุ่นนี้ด้านหน้าจะเหมือนกับเหรียญรุ่นที่เจ็ดเพราะ ใช้บล็อกเดียวกัน แตกต่างกับเหรียญรุ่นที่เจ็ดด้านหลังเหรียญซึ่งแกะบล็อกใหม่ ขนาดของยันต์จะโตกว่าเล็กน้อยและมีอักษรไทยเขียนไว้ ด้านขอบเหรียญบนว่า “พระพุทธวิถีนายก เพิ่ม ปุญญวสโน วัดกลางบางแก้ว” ด้านริม ขอบล่างเขียนว่า “ที่ระลึกกฐินพนักงานไทยโทเรฯ 6 พ.ย. 20” ซึ่งสร้างขึ้นโดยพนักงานไทยโทเรฯ เพื่อแจกในงานทอดกฐินวัดปี 2520 จำนวนเหรียญมีทั้งทองแดงธรรม นวโลหะ และทองแดงลงยาสีแดง น้ำเงิน ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ไม่ทราบแน่ชัด

เหรียญรุ่นที่สิบ

เหรียญรุ่นที่สิบนี้สร้างขึ้นเพื่อฉลองอายุครบรอบหลวงปู่ 93 ปี การสร้างเหรียญสร้างเป็น 2 แบบ คือ เหรียญแจกแบบหนึ่ง และเหรียญให้ทำบุญแบบหนึ่ง

เหรียญแจก เป็นเหรียญรูปทรงระฆังซึ่งเหรียญรุ่นนี้มักเรียกกันว่า “เหรียญระฆัง” ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่ยืนถือไม้เท้าเต็มองค์ ห่มพาดสังฆาฏิสวมแว่นตาบนศีรษะหลวงปู่มีอักษรขอมในวงกลมเล็กอ่านว่า “พ” ซึ่งหมายถึง ชื่อย่อของหลวงปู่ รอบองค์มีเส้นขอบรอบในทรงระฆัง แล้วมีอักษรไทย 2 บรรทัดอ่านว่า “หลวงปู่เพิ่ม (เพิ่ม ปุญญวสโน) วัดกลางบางแก้ว” ด้านหลังเหรียญ ขอบเหรียญด้านบนมีอักษรอ่านว่า “ลาภ ยศ เพิ่มพูน” ด้านริมขอบล่างอ่านว่า “ฉลองคล้ายวันเกิดอายุ 93 พ.ศ. 2521” ส่วนตรงกลางเป็นรูปพัดยศแล้วมยันต์นะโมพุทธายะแบบพุทธซ้อนแกะเป็นลานเส้นจม จำนวนเหรียญแจกแบบนี้รมน้ำตาล จำนวน 1,000 เหรียญ หลวงปู่แจกหมดในงานวันทำบุญอายุ

เหรียญทำบุญ ลักษณะเหรียญคล้ายกันมากเพียงแต่รูปทรงเหรียญเป็นแบบรูปไข่ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่ยืนเต็มองค์ถือไม้เท้าเช่นกัน ด้านหลังแตกต่างกัน ส่วนยันต์เป็นยันต์นูน เหรียญแบบนี้สร้างเป็นทองแดงรมน้ำตาลจำนวน 5,000 เหรียญ ปลุกเสกพร้อมกับเหรียญแบบระฆัง

เหรียญรุ่นนี้เป็นเหรียญรุ่นที่มีประสบการณ์มากอีกรุ่น หนึ่ง โดยเฉพาะ “เหรียญระฆัง” ซึ่งเป็นเหรียญแจกมีคนได้รับแล้วนำไปบูชาติดตัวกันมาก จึงทำให้เกิดประสบการณ์ต่าง ๆ มากมาย มีเรื่องเล่าลือกันทั่วไป จนทำให้เหรียญรุ่นระฆังมีความต้องการสูง การแสวงหาจึงยากกว่ารุ่นอื่น ๆ ราคาของเหรียญจึงสูงตามไปด้วยทั้งที่เหรียญรูปไข่ซึ่งคล้ายกันและปลุกเสก พร้อมกัน ทางวัดยังมีเหลือให้ทำบุญอยู่ในปัจจุบัน

นานสำลี ปานกรอง ชาวนครชัยศรีเล่าว่า เขาได้รับแจกเหรียญรูประฆังไปจากมือของหลวงปู่ในงานทำบุญอายุหลวงปู่ จึงนำไปเลี่ยมแขวนคอเอาไว้เพียงเหรียญเดียวเพราะถือว่าได้รับมากับมือ เขาเคยมีประสบการณ์หลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะถ้าไปหาหมอฉีดยาครั้งใด หากไม่เอาออกจากคอแล้วจะต้องฉีดยาไม่เข้าทุกครั้งไป มีอยู่คราวหนึ่งเขาไปถอนฟันที่ร้านหมอฟันตลาดนครปฐม ปรากฏหมอฟันไม่สามารถฉีดยาชาได้ กดเข็มจนเข็มงอเปลี่ยนเข็มใหม่ก็ยังไม่เข้า ตัวเขานึกสงสัยเพราะมองไม่เห็นถึงถามหมอ พอหมอบอกว่าฉีดยายังไม่ได้ จึงทำให้นึกขึ้นมาได้ว่ายังไม่ได้เอาสายสร้อยออกจากคอและเมื่อถอดสายสร้อย แล้วปรากฏว่าฉีดยาได้สบายมาก คุณสำลีได้เล่าว่าประสบการณ์อีกครั้งหนึ่งคือ เขานั่งอยู่ที่บ้าน ขณะภรรยากำลังใช้มีดพร้าปอกมะพร้าว โดยหันหลังให้ใกล้ ๆ ภรรยาเกิดพลาดท่าพร้าในมือของภรรยาหลุดลอยมาตกลงกลางหลังของเขาดัง “บึ้ก” แรงมีดและความคมทำให้เสื้อขาดกลางหลัง ภรรยาของเขาตกใจร้องลั่น แต่ปรากฏว่าไม่เข้าเนื้อเพียงแต่เป็นรอยขีดแดง ๆ เท่านั้นเอง คุณสำลีเล่าว่า แรงมีดพร้าซึ่งมีน้ำหนักมากขนาดหลังของเขาแอ่นไปข้างหน้าทีเดียว คุณสำลียืนยันพุทธคุณของเหรียญหลวงปู่เพิ่มว่ามีประสบการณ์ดีจริง ๆ

เหรียญรุ่นที่สิบเอ็ด

เหรียญรุ่นนี้สร้างในปีเดียวกันกับเหรียญรุ่นที่สิบห่าง กันเพียงไม่กี่เดือนในโอกาสทอดผ้าป่าสามัคคี โดยคณะลูกเสือชาวบ้านนครชัยศรี เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2521 ลักษณะเป็นเหรียญรูปทรงสูงคอดเว้าตามองค์หลวงปู่ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่ยืนถือไม้เท้าสวมแว่นตาห่มพาดสังฆาฏิ มีอักษรไทยเขียนไว้ด้านข้างอ่านได้วา “ที่ระลึกผ้าป่าสามัคคี 15 พ.ค. 2521” และด้านล่างใต้รูปหลวงปู่เขียนว่า “วัดกลางบางแก้ว หลวงปู่เพิ่ม” ด้านหลังเหรียญเป็นรูปรัชกาลที่หก ประทับยืนในชุดทรงลูกเสือ และมีอักษรไทยเขียนไว้รอบ อ่านว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” อันเป็นสัญลักษณ์ของลูกเสือชาวบ้านนั่นเอง ใต้พระรูปมีอักษรย่อเขียนไว้ว่า “ร.6” เหรียญรุ่นนี้เรียกกันว่า “รุ่นลูกเสือชาวบ้าน” เป็นเหรียญทองแดงรมดำและกะไหล่ทอง จำนวนสร้างไม่ทราบแน่ชัด หลังจากแจกในงานทอดผ้าป่าแล้วมีเหลือจำนวนหนึ่งถวายวัด ให้คนทำบุญขณะนี้ยังมีเหลืออยู่

เหรียญรุ่นที่สิบสอง

เหรียญรุ่นที่สิบสองสร้างในโอกาสทำบุญอายุครบรอบ 94 ปี พ.ศ. 2522 ลักษณะเหรียญเป็นสองแบบ คือ แบบแรกเป็นแบบเหรียญรูปอามแต่มีลวดลายประดิษฐ์เป็นลายกนก ด้านข้าง ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่ครึ่งองค์ห่มสังฆาฏิ หน้าตรงมีอักษรไทยเขียนไว้ใต้รูปว่า “หลวงปู่เพิ่ม (เพิ่ม ปุญญวสโน)” ด้านหลังเหรียญมียันต์นะโมพุทธายะแบบพุทธซ้อน แล้วมีอักษรไทยเขียนไว้ด้านบนว่า “อายุ 94 2522” ด้านล่างใต้ยันต์เขียนว่า “ฉลองคล้ายวันเกิด” เหรียญรุ่นนี้มีแบบทองแดงรมน้ำตาลและเนื้อกะไหล่ทองลงยาสีแดง เขียว เหลือง และขาว จำนวนสร้างประมาณ 5,000 เหรียญ ขณะนี้ทางวัดยังมีเหลือให้ทำบุญ

ส่วนแบบที่สอง ลักษณะคล้ายแบบแรก คือ รูปหลวงปู่เหมือนกันเพียงแต่การตัดขอบแบบที่สองโค้งลาดกว้างออกไปคล้ายกลม ป้อมแหลมปลายล่าง อักษรใต้รูปเขียนว่า “วัดกลางบางแก้ว” แล้วมีเส้นลายกนกคั่นอักษรล่างสุดเขียนว่า “หลวงปู่เพิ่ม (เพิ่ม ปุญญวสโน)” ด้านหลังเป็นยันต์พุทธซ้อนเหมือนแบบแรกเนื้อทองแดงรมน้ำตาล จำนวนสร้างประมาณ 2,000 เหรียญ

เหรียญรุ่นที่สิบสาม

เหรียญรุ่นนี้เป็นเหรียญรูปหลวงปู่ที่ออกในปี พ.ศ. 2522 เช่นเดียวกับเหรียญรุ่นที่สิบสอง ซึ่งออกในงานทำบุญอายุครบ 94 ปี แต่เหรียญรุ่นที่สิบสามอันเป็น “ลัคกี้นัมเบอร์” นี้จัดว่าเป็น “รุ่นโชคดี” เพราะผู้ที่ได้ไปมีประสบการณ์ทางโชคลาภสมกับรุ่นที่ 13 ซึ่งเป็น ลัคกี้นัมเบอร์ เหรียญรุ่นที่สิบสามเป็นเหรียญรูปทรงแบบพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่ปลายมณ ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่ครึ่งองค์หน้าตรง ตรงขอบจีวรสุดมีเลขไทยเขียนไว้ว่า “94” และมีอักษรไทยโค้งตามขอบรูปใต้ตัวเลขอ่านว่า “พระพุทธวิถีนายก หลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน” ใต้ตัวอักษรตรงปลายแหลมขอบเหรียญด้านล่างมีดอกประจำยามหนึ่งดอก ส่วนด้านหลังเป็นยันต์ “นะโมพุทธายะ” แบบพุทธซ้อน ด้านข้างซ้ายมือของยันต์พุทธซ้อนมีอักขระอ่านว่า “อัง” ส่วนด้านขวาของยันต์มีอักขระอ่านว่า “มิ” สองข้างด้านล่างของยันต์มีอักขระอ่านว่า “พะ” ซึ่งหมายถึงตัว “พ” อยู่ข้างละตัว น่าจะหมายถึง “เพิ่ม พงษ์อัมพร” แล้วมีอักษรไทยเขียนโค้งตามรูปยันต์ด้านล่างอ่านว่า “สร้างถวายทุนปฏิสังขรณ์วัดกลางบางแก้ว”อีกแถวหนึ่งเขียนด้านล่างอ่านว่า “4 พ.ค. 2522” ใต้สุดเป็นดอกประจำยาม เหรียญรุ่นนี้จึงออกหลังรุ่นที่สิบสองประมาณ 5 เดือน เพราะรุ่นที่สิบสองออกในวันทำบุญอายุเดือนมกราคม 2522 เนื้อของเหรียญเป็นทองแดงไม่รมดำหรือน้ำตาลจำนวนสร้างไม่ทราบแน่ชัด ผู้สร้างถวายก็ไม่สามารถสืบทราบได้เช่นกัน ขณะนี้มีเหลือที่วัดประมาณ 1,000 เหรียญ

เหรียญรุ่นที่สิบสี่

สร้างในโอกาสทำบุญอายุครบ 95 ปี พ.ศ. 2523 ลักษณะเป็นรูปหลวงปู่ครึ่งองค์ ด้านหน้าตรงสวมแว่นมีอักษรไทยเขียนว่า “หลวงปู่เพิ่ม (เพิ่ม ปุญญวสโน) วัดกลางบางแก้ว” ด้านใต้ภาพของหลวงปู่ ส่วนด้านหลังเป็นยันต์พุทธซ้อนตรงกลางและมีอักษรไทยเขียนใต้ยันต์ว่า “ทำบุญอายุ 95 ปี” ด้านบนยันต์เป็น “พ.ศ. 2523” รุ่นนี้เป็นเหรียญทองแดงรมสีน้ำตาล จำนวนสร้าง 5,000 เหรียญ หลังจากงานทำบุญอายุแล้วยังมีเหรียญเหลืออีกจำนวนหนึ่ง

เหรียญรุ่นที่สิบห้า

เหรียญรุ่นที่สิบห้านี้สร้างในโอกาสทำบุญอายุปีต่อมา คือ พ.ศ. 2524 ครบรอบอายุ 96 ปี ลักษณะเป็นเหรียญเสมาด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่ครึ่งองค์เอียงข้าง มีอักษรไทยเขียนใต้ภาพว่า “พระพุทธวิถีนายก (เพิ่ม ปุญญวสโน)” ด้านบนศีรษะหลวงปู่เป็นอักขระขอมสองข้างตัว “เฑาะว์” อ่านว่า “มิ” และ “อัง” ด้านหลังเหรียญ ตรงกลางเป็นยันต์นะโมพุทธายะแบบพุทธซ้อน ด้านบนยันต์มีอักษรไทยเขียนไว้ว่า “ทำบุญอายุ 96 ปี(8รอบ) 2524” ด้านล่างใต้ยันต์เขียนว่า “วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม” สร้างเป็นเนื้อทองแดงรมน้ำตาล 5,000 เหรียญ และทองแดงกะไหล่ทอง 5,000 เหรียญ ในงานทำบุญอายุครบแปดรอบมีบรรดาลูกศิษย์ไปร่วมงานมากมาย เหรียญได้สร้างไว้จำนวนมาก จึงทำให้เหรียญหมดไปส่วนหนึ่งมากพอสมควร แต่ก็พอยังมีเหลือให้ทำบุญที่วัดขณะนี้อยู่บ้างโดยเฉพาะแบบรมน้ำตาล

เหรียญรุ่นนี้มีประสบการณ์มากในบรรดาลูกศิษย์ โดยเฉพาะในทางเมตตาและแคล้วคลาด มีเรื่องราวเล่าให้ฟังกันอยู่เสมอ ๆ

เหรียญรุ่นที่สิบหก

เหรียญรุ่นนี้เป็นเหรียญเสมาขนาดเล็กเนื้อทองแดงกะไหล่ ทอง ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่หน้าตรงห่มสังฆาฏิมีรัดประคต บนขอบเหรียญด้านบนมีอักษรเขียนว่า “หลวงปู่เพิ่ม” ด้านหลังเป็นยันต์ “นะโมพุทธายะ” แบบพุทธซ้อน ด้านบนข้างยันต์สองข้างมีอักษรเขียนไว้ว่า “พิเศษ” และอักษรใต้ยันต์เขียนว่า “พ.ศ. 2524” ส่วนอักษรของเหรียญเขียนไว้ว่า “วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม” เหรียญรุ่นนี้สร้างขึ้นเป็นพิเศษจำนวน 1,000 เหรียญ หลวงปู่ปลุกเสกอยู่นาน สร้างโดย “พระอาจารย์เจือ ปิยทัสสี” พระสมุห์ของวัดกลางบางแก้ว เพื่อแจกในงานศพโยมของท่านเป็นอีกรุ่นหนึ่งที่มีประสบการณ์มากและหายาก

เหรียญรุ่นที่สิบเจ็ด

เหรียญหลวงปู่เพิ่มรุ่นที่สิบเจ็ด สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสทำบุญฉลองอายุหลวงปู่ครบ 97 ปี พ.ศ. 2525 ขณะนั้นหลวงปู่อายุครบ 97 ปี เหรียญรุ่นนี้พระปลัดใบเป็นผู้ดำเนินการจัดสร้างโดยออกแบบเหรียญให้แตกต่าง กว่าที่เคยสร้างมา  เป็นแบบทรงคล้ายพุ่มข้าวบิณฑ์เว้าขอบสองข้างด้านล่างและขยักย่อมุมด้านบน ทั้งสองข้าง ข้างละสองหยัก ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่หน้าตรงครึ่งองค์ห่มสังฆาฏิ บนศีรษะของหลวงปู่เป็นอหุณาโลมมีรัศมีตรงปลาย ด้านล่างของรูปหลวงปู่มีอักษรไทยเขียนไว้ว่า “พระพุทธวิถีนายก เพิ่ม ปุญญวสโน วัดกลางบางแก้ว” และมีลายกนกปลายแหลมด้านล่าง ขอบเหรียญโดยรอบมีเส้นเรียงแกะซ้อนกันสามเส้น ด้านหลังเหรียญตรงกลางเป็นยันต์ประทุมแก้มงคลเก้า ชักยันต์เป็นรูปดอกบัวตูม และมีห้องอักขระโดยรอบ 8 ห้อง ตรงกลางดอกบัวอีก 1 ห้อง รวมเป็น 9 ห้อง แล้วมีอักขระห้องปลายแหลมด้านบนเรียงลำดับไปว่า “อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ ภุ” และตรงกลาง “ภ” ด้านข้างของยันต์เขียนว่า “ที่ระลึกในงานอายุครบ 8 รอบ” ใต้ยันต์เขียนว่า “2525” เหรียญรุ่นนี้ พระปลัดใบสร้างเอาไว้มากถึง 10,000 เหรียญ เป็นเนื้อทองแดงรมดำ และทองแดงกะไหล่ทอง ส่วนเนื้อเงินสร้างไว้ 100 เหรียญ เหรียญรุ่นนี้สร้างเสร็จก่อนงานหลวงปู่นานหลายเดือน ได้มอบถวายให้หลวงปู่ปลุกเสกนานมากจนถึงวันทำบุญอายุ รวมแล้วมากกว่า 3 เดือน นับว่าเป็นรุ่นที่มีการปลุกเสกนานกว่าทุกรุ่นก็ว่าได้ จำนวนเหรียญเมื่อเสร็จจากงานทำบุญอายุแล้วปรากฏว่าเหรียญเงินหมดไปเหลือ เหรียญทองแดงรมดำอยู่จนถึงขณะนี้หลายร้อยเหรียญ ใครอยากได้ก็ติดต่อขอทำบุญได้ที่วัดกลางบางแก้ว

เหรียญรุ่นที่สิบแปด (รุ่นสุดท้าย)

“รุ่นสุดท้าย” ของหลวงปู่เพิ่ม เป็นเหรียญที่ทำขึ้นเพื่อเตรียมไว้แจกให้คนมาร่วมทำบุญอายุหลวงปู่ครบ 98 ปี ในปี พ.ศ. 2526 แต่เหรียญเขียนว่าทำบุญ อายุ 98 ปี ก่อนสร้างเหรียญรุ่นนี้ได้ไปบอกหลวงปู่ หลวงปู่ห้ามว่าปีนี้ไม่ต้องสร้างก็ได้ แต่คณะศิษย์ก็บอกว่าอยากจะสร้างไว้อีกครั้งหนึ่ง หลวงปู่ก็ไม่ว่ากระไร แต่บอกว่า จะสร้างก็รีบสร้าง ขณะนั้นหลวงปู่ยังแข็งแรง สุขภาพสมบูรณ์ทุกประการ คณะศิษย์จึงได้ดำเนินการสร้างเหรียญขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามคำของหลวงปู่เป็นสามแบบ แบบแรกเป็นเหรียญแบบรูปอาร์ม ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่ครึ่งองค์หน้าตรงห่มสังฆาฏิ มีอักษรไทยเขียนไว้ใต้รูปว่า “พระพุทธวิถีนายก (เพิ่ม ปุญญวสโน)” ด้านหลังเป็นยันต์ “นะโมพุทธายะ” แบบพุทธซ้อน และมี “เฑาะว์มหาพรหม” ตรงปลายสองข้างมีอักขระ “อัง” และ “มิ” ใต้ยันต์มีอักษรไทยเขียนไว้ว่า “ทำบุญอายุ 98 ปี วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม 28 ม.ค. 26” แบบที่สองเป็นแบบเสมาคล้ายเหรียญวัดหนังรูปหลวงปู่เพิ่มนั่งเต็มองค์ เนื้อทองแดงรมดำและแบบที่สามเป็นแบบอาร์มรูปหลวงปู่บุญนั่งเต็มองค์ เหรียญรุ่นนี้เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ได้นำไปให้หลวงปู่ปลุกเสกก่อนถึงงานวันเกิดของท่านหลายเดือน แต่ยังไม่ได้ทันแจกวันเกิดของท่านก็ปรากฏว่าหลวงปู่ก็มรณะเสียก่อน เป็นไปตามคำห้ามของท่านที่ว่า “ปีนี้ไม่ต้องสร้างก็ได้” ดูเหมือนหลวงปู่จะรู้วาระกาลของท่านล่วงหน้านานหลายเดือนทีเดียว แต่ถึงอย่างไรเหรียญรุ่นนี้หลวงปู่ก็ปลุกเสกเอาไว้แล้ว บางคนสงสัยนึกว่าท่านมรณภาพก่อนถึงวันเกิด เหรียญที่ระบุวันที่ไว้ว่า “28 ม.ค. 26” ท่านคงไม่ได้ปลุกเสก ความจริงท่านปลุกเสกไว้ล่วงหน้าก่อนนานแล้ว นับว่าเป็น “เหรียญรุ่นสุดท้าย”

“เหรียญรุ่นแรก” พ.ศ. 2504 ของหลวงปู่ขณะนี้หาได้ยากเต็มทีแล้ว หากหาไม่ได้ก็จงขอบูชารุ่นอื่น ๆ ก็เหมือนกันและ “รุ่นสุดท้าย” ก็เป็นรุ่นที่ควรเก็บเอาไว้บูชาอีกรุ่นหนึ่ง ท่านที่มีรุ่นอื่น ๆ แล้วก็น่าจะมีรุ่นสุดท้ายด้วย เพราะท่านปลุกเสกเอาไว้นานทีเดียว โดยเฉพาะท่านรู้วาระกาลชะตาล่วงหน้าดังกล่าวแล้ว ดังนั้นการปลุกเสกรุ่นสุดท้าย ท่านก็คงจะต้องทุ่มเทให้เป็นพิเศษ ขณะนี้เหรียญรุ่นสุดท้ายยังมีเหลือที่วัดอีกมากพอแบ่งกันได้ทั่วถึงอย่าง สบาย ท่านสนใจก็ลองติดไปได้ไม่ผิดหวังแน่

พระเครื่องเนื้อโลหะของหลวงปู่เพิ่ม

พระเครื่องเนื้อโลหะของหลวงปู่เพิ่ม ซึ่งสร้างขึ้นเป็นรูปพระพุทธนั้นนอกจากเหรียญที่กล่าวไปแล้วนั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรูปเหมือนของหลวงปู่ ส่วนที่เป็นรูปพระพุทธในลักษณะพระเครื่องใช้โลหะมี 3 แบบด้วยกันคือ

1. พระทวาราวดี พระทวาราวดีซึ่งสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2518 นี้เนื่องจากพระปลัดใบ คุณวีโรได้ไปพบเนื้อโลหะชินตะกั่วก้อนใหญ่ที่วัดศรีมหาโพธิ์ เป็นชินเก่าโบราณจมอยู่ในบริเวณวัด มีน้ำหนักหลายสิบกิโล จึงนำมาเก็บไว้วัดกลางบางแก้ว แล้วไปเล่าให้หลวงปู่เพิ่มฟัง ท่านบอกให้พระปลัดใบเอามาทำพระพิมพ์หรือเทเป็นพระเครื่องขึ้น พระปลัดใบได้มาปรึกษากับผู้เขียนว่าจะทำพระแบบใดดีปรึกษากันแล้วจึงตกลงกัน ว่าการหล่อหรือเทเป็นองค์เป็นการลงทุนมาก ลำบากทางด้านการสร้าง ให้เอาชินมาหลอมแผ่เป็นแผ่น แล้วแกะพิมพ์พระโดยการใช้วิธีปั๊มเอาจะได้พระมากและสะดวกกว่า เมื่อตกลงดังนั้นแล้วจึงได้ไปให้ อาจารย์อวบ สาณะเสน เป็นผู้ออกแบบให้ อาจารย์อวบ สาณะเสน จึงออกแบบเป็นพระพิมพ์แบบทวาราวดี ปางนั่งห้องบาท ยกกรประทานพร แบบพระประธานในอุโบสถ วัดพระปฐมเจดีย์ แต่มีซุ้มลายที่ผนังด้านหลัง เมื่อได้แบบแล้ว จึงนำไปให้หลวงปู่เพิ่มดู ท่านมีความชอบใจมากและได้ให้แกะอักขระด้านหลังว่า “นะ ชา ลี ติ” และ “มะ อะ อุ” เมื่อได้แบบแล้วจึงนำแบบไปให้ช่างสนั่นที่วัดเครือวัลย์ ธนบุรีแกะแม่พิมพ์ ส่วนก้อนชินตะกั่วได้นำไปหลอมแล้วเทเป็นแผ่นเตรียมเอาไว้ปั๊มต่อไป

หลังจากแกะพิมพ์เสร็จแล้ว จึงเริ่มปั๊มชินตะกั่วที่เทเป็นแผ่นทั้งหมด จำนวน 300 องค์ เท่านั้น จึงเอาเศษที่ตัดไปหลอมใหม่ปั๊มได้อีก 80 องค์ รวมเป็น 380 องค์ พระปลัดใบเห็นว่ามีจำนวนน้อยเกินไป จึงให้ช่างเอาทองแดงมาหลอมผสมชินตะกั่วมาปั๊มเพื่อให้ครบ 1,000 ดังนั้นจึงมีเนื้อทองแดงรมน้ำตาลอีก 620 องค์ แล้วพิมพ์เป็นเนื้อเงิน 100% เอาไว้ 10 องค์ ทองคำหนัก 2 บาท อีก 3 องค์ พระรุ่นนี้มอบให้หลวงปู่ปลุกเสกไว้นานถึง 1 ปี จึงเอาออกให้ทำบุญไม่นากนัก เนื้อชินตะกั่วก็หมดไป คงเหลือเนื้อทองแดง ในขณะนี้มีอีกไม่มากนัก ส่วนเนื้อเงินและทองคำหมดไปแล้วเช่นเดียวกัน

พระพิมพ์นี้มีผู้นำไปใช้มีประสบการณ์ทางด้านโชคลาภมาก เป็นพิเศษ แต่เป็นพระที่มีองค์ขนาดค่อนข้างใหญ่ การแขวนจึงออกจะค่อนข้างมีน้ำหนักพอสมควร ฝีมือการออกแบบและการแกะพิมพ์นับว่ามีความงดงามมาก ใครยังไม่มีควรเสาะแสวงเอาไว้เพราะขณะนี้ที่วัดยังมีหลงเหลืออีกไม่มากนัก ไม่ช้าคงหมดไปแน่นอน

2. หลวงพ่อโต พระพุทธรูปประธานในอุโบสถวัดกลางบางแก้วเป็นพระพุทธรูปสมัยอู่ทองยุคปลาย ขนาดใหญ่สร้างด้วยศิลาทราย ลงรักปิดทอง พุทธลักษณะงดงามปางสมาธิ พระพุทธรูปอันเป็นพระประธานในโบสถ์องค์นี้ชาวบ้านเรียกกันว่า “หลวงพ่อโต” พระพุทธรูปองค์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์มาก มีชาวบ้านไปบนขอให้บารมีท่านช่วยในเรื่องต่าง ๆ ล้วนแต่ได้ผลดังปรารถนาอยู่เสมอ

ชาวนครชัยศรีมีความศรัทธาเลื่อมใส “หลวงพ่อโต” วัดกลางบางแก้วมาก  ในช่วงเวลาการเกณฑ์ทหาร มักมีคนไปบนขอบารมีท่านด้วยขนุน หลังจากเกณฑ์หทารผ่านไปจะพบว่ามีคนเอาขนุนมาแก้บนในโบสถ์อยู่เสมอ ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงผลสำเร็จที่เขามาบนเอาไว้นั่นเอง โดยเฉพาะในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อบนและขอน้ำมนต์จากหลวงพ่อโตไปแล้วที่มีอาการหนักมักจะเบาบาง ที่เบาบางก็จะทุเลาคลี่คลายหายไป ใครมีทุกข์ร้อนเรื่องใดเมื่อมาบนกับหลวงพ่อโต มักจะได้ผลดีอยู่เสมอ จึงทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโตขจรขจาย กิตติคุณทั่วไป ใครมีปัญหาต่าง ๆ ก็จะไปอธิษฐานบอกกับหลวงพ่อและขอบารมีให้หลวงพ่อโตช่วย

หลวงปู่เพิ่มได้สร้างพระหลวงพ่อโตเป็นเนื้อโลหะไว้ ครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2520 เป็นรูปหลวงพ่อโตพิมพ์แบบหยดน้ำ โดยใช้ทองแดงปั๊ม ด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อโต มีอุณาโลมตรงปลายยอด ด้านล่างมีอักษรไทย เขียนไว้ว่า “ลาภ สุข ยศ สรรเสริญ” สี่ด้านขอบเหรียญตรงกลางเขียนว่า “หลวงพ่อโต” เนื้อทองแดงรมน้ำตาลสร้างไว้ 5,000 องค์ ขณะนี้ยังมีเหลืออยู่ที่วัดอีกเล็กน้อย

พุทธคุณของหลวงพ่อโตมีมากมายหลายด้าน โดยเฉพาะแคล้วคลาด หลวงปู่เพิ่มปลุกเสก “หลวงพ่อโต” อยู่นาน จึงได้แจกจ่ายให้คนทำบุญ คนที่นำไปเลี่ยมแขวนคอมักจะเล่าว่าเป็นพระอธิษฐาน เมื่อมีปัญหาอย่างไรเอา “หลวงพ่อโต” ใส่มืออธิษฐานขอบารมีหลวงพ่อช่วยมักจะประสบผลสำเร็จอยู่เสมอ

3. รูปเหมือนหลวงปู่บุญ รูปเหมือนหลวงปู่บุญขนาดเล็ก สร้างขึ้นโดย พระปลัดใบ คุณวีโร เมื่อปี พ.ศ. 2525 จำนวน 20,000 องค์ โดยนำเอาชนวนและก้านของพระชัยวัฒน์หลวงปู่บุญที่ตัดองค์พระออกแล้ว มาหลอมเทเป็นองค์พระรูปเหมือนหลวงปู่บุญ ดังนั้นเนื้อของรูปเหมือนหลวงปู่บุญรุ่นนี้จึงมีความใกล้เคียงกับพระชัยวัฒ น์มาก ใต้ฐานเจาะบรรจุผงหลวงปู่บุญและอุดด้วยแผ่นทองแดงกลมเล็กพิมพ์อักษร “อุ” เอาไว้ตรงกลาง เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้นำไปให้หลวงปู่เพิ่มปลุกเสกตลอดพรรษาจึงได้นำออกให้ ทำบุญองค์ละ 100 บาท(ขณะนี้ไม่ทราบแน่ว่าหมดแล้วหรือยัง) รูปเหมือนที่สร้างรุ่นนี้นับเป็นรุ่นแรกที่ทางวัดกลางบางแก้วได้หล่อรูปหลวง ปู่บุญขนาดเล็ก ขึ้นเพื่อให้คนทำบุญ ฝีมือช่างที่แกะพิมพ์ได้มีฝีมือคือ เหมือนหลวงปู่มากทีเดียว

ล็อกเกต

หลวงปู่สร้างล็อกเกตเอาไว้ เมื่อปี พ.ศ. 2524 เนื่องในงานทำบุญวันเกิดวันที่ 28 มกราคม 2524 หลายแบบด้วยกันมีทั้งแบบรูปไข่และแบบรูปกลมเล็ก – ใหญ่ ทั้งเป็นแบบรูปหลวงปู่เพิ่มเองและรูปหลวงปู่บุญเป็นแบบเข็มกลัดก็มี เข็มเน็คไทก็มี (ตามภาพประกอบในหนังสือ) จำนวนที่สร้างครั้งนั้นนับพันอัน ถึงขณะนี้จึงมีเหลืออยู่จำนวนไม่มากนัก แต่ก็มีคนไปขอทำบุญกันเสมอเพราะต่างมีประสบการณ์กันมาก ทราบว่าให้ทำบุญอันละ 100 บาท ฝีมือช่างทำภาพได้คมชัดสีสันสวยสดงดงามราวกับภาพมีชีวิต

พระเครื่องเนื้อผง

พระเครื่องเนื้อผงของหลวงปู่เพิ่มซึ่งท่านสร้างขึ้นครั้ง แรกนั้นก็ได้แก่ พระผงพญาไม้ผุ ซึ่งท่านได้นำเอาว่านพญาไม้ผุมาบดผสมกับผงแล้วกดเป็นพิมพ์พำระในพิมพ์ซุ้ม รัศมี โดยใช้แม่พิมพ์อันเดียวกันกับของหลวงปู่บุญ ซึ่งเป็นพิมพ์เก่าตกค้างอยู่ ลักษณะความแตกต่างของพระผงว่านพญาไม้ผุของหลวงปู่เพิ่มกับของที่หลวงปู่บุญ สร้างมีความแตกต่างกันเฉพาะในด้านเนื้อของพระซึ่งสามารถมองเห็นได้ชัด คือ พระซุ้มรัศมีเนื้อผงว่านพญาไม้ผุ หลวงปู่บุญจะมีความบางและแห้งจัดมากกว่า ความแกร่งและละเอียดของเนื้อก็มากกว่า สีออกสีเหลืองอมเขียวเล็กน้อย ส่วนของหลวงปู่เพิ่มเนื้อจะหยาบและองค์พระหนา ความแห้งและความแกร่งมีไม่มากนัก สีจะออกเหลืองจัดกว่าของหลวงปู่บุญมาก สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากพิจารณาด้วยกล้องจะพบว่าเนื้อพระที่หลวงปู่สร้างจะหยาบกว่าของหลวงปู่บุญ มากทีเดียว ส่วนปี พ.ศ. ที่สร้างนั้นทราบว่า ท่านเริ่มสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2500 ถึงปี พ.ศ. 2503 ก็หยุดสร้าง ได้พระไม่มากนัก ไม่ถึง 1,000 องค์ จะเห็นได้ว่าท่านค่อย ๆ สร้างครั้งละ 50 -100 องค์เท่านั้น

พระผงรุ่นที่ 2

คงได้แก่ “พระขมิ้นเสก” การสร้างพระรุ่นนี้ผู้เขียนได้มีส่วนเห็นในขณะที่ยังเป็นนักเรียนอยู่วัด กลางบางแก้วเรื่องพระผงขมิ้นเสกนี้ ผู้เขียนขอเขียนแบบเล่าสู้กันฟังมากกว่ารูปแบบอื่น เพราะเรื่องนี้ผู้เขียนได้รู้ๆได้เห็นมากับตาตนเอง และได้ยินได้ฟังมาจาก “หลวงปู่เพิ่ม” ผู้สร้างพระพิมพ์นี้ขึ้นเมื่อคราวที่ผู้เขียนได้บวชอยู่ที่วัดกลางบางแก้ว โดยมี “หลวงปู่เพิ่ม” เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้เอง

หลวงปู่เพิ่ม ได้เมตตาเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า.... เมื่อครั้งที่หลวงปู่บุญยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านได้เอาหัวขมิ้นมาลงอักขระและปลุกเสกบ่อย ๆ ครั้งละไม่มากนัก เมื่อลงอักขระและปลุกเสกเสร็จแล้ว ก็เอาหัวขมิ้นนั้นใส่เอาไว้ในโถเคลือบ ท่านว่าจะเอาไว้สร้าง “พระขมิ้นเสก”

หลวงปู่บุญท่านจะลงอักขระขมิ้นและปลุกเสกเอาขมิ้นใส่โถ ไว้นานเท่าใด หลวงปู่เพิ่มเล่าว่า จำไม่ได้แน่นอน แต่ขมิ้นในโถเคลือบใบใหญ่นั้น ยังไม่ทันจะได้นำมาบดสร้างพระเครื่อง หลวงปู่บุญก็มรณะภาพไปเสียก่อน ขมิ้นที่อยู่ในโถนั้นก็ยังคงอยู่ตลอดมา วันหนึ่ง ....... หลวงปู่เพิ่มท่านได้ไปเห็นขมิ้นในโถนั้นเข้าก็ย้อนระลึกถึงเรื่องราวในอดีต ว่า เคยเห็นหลวงปู่บุญเสกขมิ้นในโถเป็นประจำ จึงได้นำเอาโถขมิ้นใบนั้นมาไว้ที่กุฏิและพบว่า ขมิ้นส่วนใหญ่นั้นแห้งไปแล้วมีอยู่สักครึ่งขวดโหล

หลวงปู่เพิ่มท่านจึงได้เอาหัวขมิ้นสดมาลงอักขระและปลุก เสกบ้าง ตามกรรมวิธีของหลวงปู่บุญซึ่งท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมมาจากหลวงปู่บุญ โดยตลอด

หลวงปู่เพิ่มได้ลงอักขระและเสกหัวขมิ้นครั้งละ 5 หัวบ้าง 10 หัวบ้างแล้วก็เอาหัวขมิ้นนั้นมาใส่ไว้ในโถเคลือบใบนั้นเหมือนกันตั้งใจว่า เมื่อขมิ้นเต็มโถแล้วก็จะเอาขมิ้นนั้นมาบดเป็นผง สร้างพระเครื่องขมิ้นเสกขึ้น

หลวงปู่เพิ่มได้ลงอักขระและปลุกเสกหัวขมิ้นมาเรื่อย ๆ จนในที่สุด หัวขมิ้นก็เต็มโถใบใหญ่นั้น

ปี พ.ศ. 2504 หลวงปู่เพิ่มอายุได้ 76 ปี ท่านเห็นว่า ขมิ้นเต็มโถแล้ว ก็จะได้สร้างพระเครื่องตามความตั้งใจเสียที จึงได้เรียก “พระปลัดใบ คุณวีโร” ไปพบและแจ้งความประสงค์ของท่านว่าจะให้ปลัดใบช่วยเอาขมิ้นในโถนี้ไปบดให้ เป็นผง แล้วเอาไปพิมพ์เป็นองค์พระให้

ปลัดใบก็ได้ดำเนินการตามที่หลวงปู่เพิ่มต้องการ แล้วจัดหาแม่พิมพ์พระเครื่องได้จำนวน 5 แบบพิมพ์ นำมาให้หลวงปู่เพิ่มพิจารณา หลวงปู่เพิ่มเห็นแล้วก็พอใจโดยเฉพาะแม่พิมพ์พระชัยวัฒน์ (ซึ่งท่านเรียกว่า“ยอดธง”)เพราะ เห็นว่า มีหูมีตา ชัดเจนดี

จากนั้นก็ได้มีการเอาผงที่ได้จากการบดขมิ้นนั้น มาตำในครกเพื่อเตรียมสร้างพระเครื่อง ในตอนนี้เองที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมรู้เห็นกับเขาด้วย เพราะตอนนั้นผู้เขียนยังเรียนหนังสืออยู่ที่วัดกลางบางแก้ว พอพักเที่ยงตอนกลางวันก็พอเพื่อน ๆ ที่เป็นลูกศิษย์วัด เข้าไปร่วมวงไพบูลย์ในการกินข้าวก้นบาตรของพระเสมอ ๆ โดยเฉพาะที่กุฏิของพระปลัดใบมีอาหารคาวหวานอุดมสมบูรณ์มาก เพราะมีพระไปบิณฑบาตมาหลายสาย พอกินข้าวกลางวันเสร็จแล้วก็โดนพระปลัดใบเรียกเข้าไปใช้งานสนองพระคุณข้าว แดงแกงร้อนตามสมควร

ท่านปลัดใบให้เข้าไปช่วยตำผงเพื่อใช้สร้างพระ เราเป็นเด็กเป็นเล็กก็ต้องทำตามที่ท่านสั่งแต่ก็ทำด้วยความเต็มใจและดีใจที่ ได้ทำ เพราะตอนนั้นก็ชอบเสาะหาพระเครื่องเก่า-ใหม่กับเขาบ้างแล้วเหมือนกัน เมื่อได้มาช่วยเรื่องการสร้างพระก็ยิ่งชอบใจใหญ่ บางวันหลังเลิกเรียนแล้วก็ไปช่วยท่านปลัดใบเสมอ ๆ ก็มี ในตอนนั้นจำได้ว่า นอกจากผงขมิ้นเสกแล้วก็ยังได้มี ผงสีขาวนวล ๆ ใส่ในขวดโหลขนาดย่อม ๆ อีก 1 ใบ พระปลัดใบบอกว่า เป็นผงพุทธคุณของหลวงปู่บุญ

อีกถาดหนึ่งมี ลูกอมสีขาวสักครึ่งถาดเห็นจะได้ พระปลัดใบบอกว่า เป็นลูกอมของหลวงปู่บุญ นอกจากนี้ก็มีผลแร่อีก 1 ขวดโหลก็เป็นของหลวงปู่บุญเช่นกัน

ตอนตำผงนั้น ใส่หัวขมิ้นเสกแล้วเป็นหลัก แล้วก็เอาผงขาวนวลที่ว่าเป็นของหลวงปู่บุญใส่ผสมลงไปในครก พร้อมกับลูกอมหลวงปู่บุญและผงแร่ตำรวม ๆ กันไปอย่างนี้ตลอดเวลา

บางวันขณะที่ตำผงกันอยู่นั้น หลวงปู่เพิ่มท่านก็เดินมาดู แล้วท่านก็เอาผงบ้าง ลูกอมบ้างใส่เพิ่มลงไปในครกที่ตำกัน ท่านบอกว่าลูกอมนั้นให้ใส่ให้หมด ไม่ต้องเหลือไว้...(ภายหลังต่อมา พระปลัดใบท่านได้เล่าเพิ่มเติมว่า นอกจากผงขมิ้นเสก และผงหลวงปู่บุญ ผงแร่ แล้วก็ยังมีพระของเก่าที่หักแล้ว เช่น พระสมเด็จ พระผงสุพรรณ ตำรวมไปด้วยจำนวนมากมาย หลวงปู่เพิ่มไปได้พระสมเด็จ พระผงสุพรรณหัก ๆ เหล่านี้มาจากไหน ไม่มีใครทราบ) การตำผงต่าง ๆ นั้น ตำกันอยู่นานทีเดียวจึงหมดผง แล้วจึงกดพิมพ์เป็นองค์พระออกมา พระที่พิมพ์เสร็จแล้ว ก็เอามาเรียงกันไว้ในถาด พอเต็มถาดก็ยกเข้าไปไว้ในกุฏิหลวงปู่เพิ่ม ท่านก็จะปลุกเสกของท่านเรื่อยไป

องค์พระที่เริ่มแห้งดีแล้วหลวงปู่เพิ่มท่านก็จะลงอักขระ ไว้หลังองค์ด้วยเหล็กจาร ท่านลงด้วยตัวท่านเองทุกองค์ไป พระบางองค์ท่านจะลงตัว “เฑาะว์มหาอุด” บ้างลงเสร็จแล้วก็ปลุกเสกกันต่อไปอีกปลุกเสกกันเรื่อย ๆ มา

หลวงปู่เพิ่มท่านตั้งใจว่า พระชุดนี้ท่านจะแจกตอนงานฌาปนกิจศพท่าน หลังจากท่านได้มรณภาพไปแล้ว แต่ทว่าในระหว่างที่หลวงปู่ท่านได้ปลุกเสกมาเรื่อย ๆ นั้น ในระยะหลัง ๆ มานี้ท่านก็ได้หยิบเอาพระมาแจกแก่คนที่ไปหาท่านบ้างครั้งละ 1-2 องค์ หรือแจกกับพระที่มาลาสิกขากับท่านก็จะได้รับแจกกันไปคนละองค์สององค์ หลวงปู่มักจะบอกกับคนรับพระนี้ว่า “เก็บไว้ให้ดีนะจ๊ะ” ท่านพูดของท่านอยู่อย่างนี้เสมอ ๆ ทำให้ผู้รับพระจากท่านเกิดความหวงแหนกันมาก

พระชุดนี้มีทั้งหมด 5 พิมพ์ด้วยกันคือ
พิมพ์พระประทาน ปางมารวิชัย ฐานผ้าทิพย์พิมพ์ สมเด็จ ฐาน 5 ชั้นพิมพ์นาคปรก กรอบสี่เหลี่ยมพิมพ์นาคปรก กรอบมนแบบซุ้มกอพิมพ์ชัยวัฒน์ ฐานบัว(หลวงปู่เพิ่มเรียก “พระยอดธง”)
ดังที่บอกไว้ตั้งแต่ตอนแรกว่าพระชุดนี้ท่านได้เตรียมการ สร้างไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 จน กระทั่งปลุกเสกมาโดยตลอด จนท่านได้มรณภาพในปี พ.ศ. 2526 รวมเวลาการสร้างและการปลุกเสกนานถึง 22 ปีทีเดียว ลบเวลาการเตรียมงานเสีย 1 ปีเหลือ 21 ปีก็แล้วกัน พระที่ใช้เวลาการปลุกเสกอันยาวนานถึง 21 ปีนั้น ท่านผู้อ่านลองคิดเอาเองเถอะว่าควรค่าแก่การนำมาสักการบูชาหรือไม่ เพียงไร?  ยิ่งได้มาคำนึงถึงบรรดามวลสารต่าง ๆ ที่นำมาสร้างพระด้วยแล้ว ก็ยิ่งศรัทธาแสวงหาขมิ้นเสกของหลวงปู่บุญ ลูกอมหลวงปู่บุญผงพุทธคุณหลวงปู่บุญ ผงแร่หลวงปู่บุญ ที่ล้วนแต่เป็นของดีอันล้ำเลิศด้วยคุณค่ายิ่งแล้วก็ยังมีขมิ้นเสกของหลวงปู่ เพิ่ม พระสมเด็จ พระสุพรรณของเก่าแก่ที่หักนำมาผสมเข้าไปด้วยก็น่าศรัทธาเลื่อมใสอย่างที่สุด แล้ว

เท่านั้นยังไม่พอ...หลวงปู่เพิ่มยังได้แผ่เมตตาปลุกเสก ให้อีกเป็นระยะเวลาอันยาวนานถึง 21 ปี เพียงเท่านี้ก็คงจะไม่ต้องพรรณนาอะไรให้มากความยาวยืดออกไปอีกก็ได้แล้ว

พระผงขมิ้นเสกนี้ พระปลัดใบได้เคยนำออกให้ชาวบ้านทำบุญไปครั้งหนึ่ง เมื่อตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ การนำพระออกให้บูชาคราวนั้นก็เพื่อนำปัจจัยมาบูรณะเสนาสนะต่าง ๆ ในวัดกลางบางแก้ว ตอนนั้นให้ทำบุญองค์ละ 50 บาทเท่านั้น เพียงระยะเวลาอันไม่นาน พระบางพิมพ์ก็ได้หมดไป

พระผงขมิ้นเสกของเก่านั้นที่วัดยังมีเหลืออยู่อีก 2 พิมพ์ คือพิมพ์นาคปรก กรอบสี่เหลี่ยม(ขนาดกว้าง 2 ซม. สูง 3 ซม.) กับพิมพ์นาคปรก กรอบมน แบบซุ้มกอ (ขนาดกว้าง 1.8 ซม. สูง 2.7 ซม.)

พระผงรุ่นที่ 3

พระผงรุ่นนี้สร้างขึ้นด้วยมวลสารหลายชนิดและมีหลายพิมพ์ หลายเนื้อด้วยกัน รวมทั้งเนื้อดินเผาด้วย (ถึงแม้ไม่ใช่เนื้อผงแต่ก็ขอผนวกเอาไว้) ซึ่งสร้างขึ้นในปีเดียวกันทั้งหมด คือ ราวปี พ.ศ. 2510 หากจำแนกเนื้อพระแล้วจะมีเนื้อผงผสมว่าน เนื้อผงผสมใบลานและว่าน เนื้อดินเผาสำหรับพิมพ์มีทั้งสิ้น 9 พิมพ์ คือหลวงพ่ออู่ทอง เนื้อผงผสมว่านองค์พระขนาดค่อนข้างใหญ่ สีออกน้ำตาล แม่พิมพ์ที่นำเอาพิมพ์เก่าสมัยหลวงปู่บุญมาสร้าง จำนวนสร้างประมาณไม่เกิน 300 องค์ ขณะนี้เหลืออยู่ประมาณ 80 องค์ขุนแผนพลายเดี่ยว เนื้อผงผสมว่านแบบเดียวกับหลวงพ่ออู่ทอง เนื้อออกสีแดงเข้มกว่าเพราะผสมว่านขุนแผนมากกว่า แบบพิมพ์พลายเดียวจำนวนสร้างไม่มากนัก ขณะนี้เหลืออยู่เล็กน้อยประมาณ 20 -30 องค์สมเด็จดินเผาดำ –แดง ลักษณะเป็นพิมพ์สมเด็จฐาน 5 ชั้น เนื้อดินเผาสองแบบ คือสีดำแบบหนึ่ง และสีแดงแบบหนึ่ง ด้านหลังมีจารตัว “เฑาะว์” เป็นรอยลึก เข้าใจว่าจารก่อนเผา ขณะนี้เหลือประมาณ 40 -50 องค์พิมพ์ สมาธิฐานบัว เนื้อดินเผาลักษณะพิมพ์พระนั่งสมาธิฐานบัวมีเม็ดไข่ปลารอบพิมพ์ ด้านหลังเรียบ ขณะนี้มีเหลือประมาณ 120 องค์ พิมพ์นี้นอกจากเนื้อดินเผาแล้วยังมีเนื้อใบลานผสมว่านและผงอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเหลืออยู่ราว 50 องค์พิมพ์สมเด็จฐานสามชั้น  เนื้อผงใบลานผสมผงและว่าน เนื้อออกสีดำ เป็นพิมพ์สมเด็จฐานสามชั้น ขนาดค่อนข้างเล็ก ขณะนี้เหลือประมาณ 80 องค์พิมพ์กลีบบัว เนื้อผงผสมว่านและใบลาน องค์พระนั่งสมาธิพิมพ์แบบกลีบบัว เนื้อพระค่อนข้างย่น สีดำ ขณะนี้เหลือประมาณ 100 องค์พิมพ์นาคปรกใหญ่ เนื้อผงผสมว่านและใบลาน เป็นพิมพ์เดียวกับนาคปรกขมิ้นเสก ซึ่งเป็นพิมพ์เก่าของหลวงปู่บุญ เนื้อพระออกสีดำ ขณะนี้เหลือประมาณ 150 องค์พิมพ์ยอดธง เนื้อผงผสมว่านและใบลาน พิมพ์เช่นเดียวกับยอดธงขมิ้นเสก ขณะนี้เหลือราว 80 องค์พิมพ์สมเด็จ เล็กแบบพระคะแนน เนื้อผงผสมว่าน ขณะเหลือราว 100 องค์พระผงรุ่นที่ 4

พระผงรุ่นที่สี่ของหลวงปู่เพิ่มสร้างขึ้นเนื่องในโอกาสทำ บุญอายุฉลอง 88 ปี ของหลวงปู่ พ.ศ. 2516 พระผงรุ่นนี้พระปลัดใบ คุณวีโร และผู้เขียน ได้มอบให้คุณลุงเจริญ ร้านสุพรรณศิลป์ ถนนตะนาว เป็นผู้แกะแม่พิมพ์ โดยใช้แม่พิมพ์เป็นทองเหลือง แบ่งออกเป็น 2 พิมพ์ คือ

พิมพ์สี่เหลี่ยม ลักษณะคล้ายสมเด็จแต่ภายในเส้นซุ้มกรอกโค้งนั้นเป็นรูปหลวงปู่ ห่มสังฆาฏิครึ่งองค์ ขนาดองค์พระสูง 4 ซม. กว้าง 2.5 ซม. ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่ดังกล่าวและมีอักษรไทยเขียนไว้ใต้รูปว่า “อายุครบ 88 ปี” ด้านหลังเป็นยันต์นะโมพุทธายะ แบบพุทธซ้อนขนาดใหญ่ ตรงกลางยันต์มีอักษรไทยเป็นเส้นนูนเขียนว่า “พระพุทธวิถีนายก (เพิ่ม)” และที่ปลายยันต์ หลวงปู่จะจารตัว “เฑาะว์มหาอุด” เอาไว้ทุกองค์ พระพิมพ์นี้มีจำนวนสร้าง 3,000 องค์เท่านั้น

พิมพ์กลม พิมพ์นี้เป็นพระพิมพ์วงกลมขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ซม. ด้านหน้าเป็นรูปหลวงปู่หน้าตรงห่มสังฆาฏิมีขอบสูงรอบองค์ และมีอักษรไทยเขียนไว้เป็นเส้นนูนที่ด้านซ้ายข้างใบหน้าหลวงปู่ “อายุครบ” และด้านขวาอ่านว่า “88ปี” ด้านหลังเป็นยันต์นะโมพุทธายะแบบพุทธซ้อนและมีอักษรไทยเขียนโค้งตามขอบว่า “พระพุทธวิถีนายก(เพิ่ม)” ด้านบนข้างยันต์จะมีรอยจาร “เฑาะว์มหาอุด” ทุกองค์

พระเนื้อผงรุ่นนี้สร้างเป็นสองพิมพ์ดังกล่าว เพื่อสำหรับผู้ชายเป็นสี่เหลี่ยมและผู้หญิงเป็นพิมพ์กลมขนาดเล็ก ฝีมือการแกะพิมพ์ของช่างเจริญสามารถแกะได้งดงามและมีความเหมือนมาก หากส่องด้วยกล้องจะพบว่า ใบหน้าหลวงปู่เหมือนมีชีวิต

เนื้อผงพระรุ่นสามทั้งสองพิมพ์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ชนิดคือเนื้อผงสีขาว โดยใช้ผงของหลวงปู่บุญและหลวงปู่เพิ่มล้วน ๆ พิมพ์ขึ้นมาได้ไม่มากนัก จำได้ว่าทั้งสองพิมพ์ประมาณ 500 องค์เท่านั้นเนื้อผงเหลือง พระปลัดใบผู้ดำเนินการพิมพ์พระได้เอาผงซึ่งเห็นว่ามีน้อยไม่พอจะพิมพ์เป็นผง ล้วนทั้งหมดเอาผสมกับผงว่านและผงเกสรดอกไม้จากหิ้งบูชาพระของหลวงปู่ เนื้อจึงออกสีเหลืองและดูหนึกนุ่ม พิมพ์ได้จำนวนทั้งสองพิมพ์ประมาณ 1,000 องค์เนื้อสีแดง โดยนำผงของหลวงปู่ผสมกับชานหมากของหลวงปู่ลักษณะเนื้อจะออกแดงเข้มแบบสีน้ำ หมากแห้ง จำนวนที่พิมพ์ได้ประมาณ 100 องค์ (ทั้งสองพิมพ์)เนื้อสีดำ พระปลัดใบเห็นว่าผลจะไม่พอจึงได้นำเอาใบลานเก่าในหอไตรและหอสวดมนต์ซึ่ง ชำรุดผุขาด เอามาสุมไฟแล้วบดเป็นผง ผสมกับผงที่เหลือแล้วพิมพ์เป็นพระทั้งสองพิมพ์ได้ประมาณ 500 องค์พระผงรุ่นที่สี่นี้เป็นพระผงที่หลวงปู่จารด้วยมือทุกองค์ และสร้างก่อนหน้าหลวงปู่นาน

เกือบปีจึงได้มอบให้หลวงปู่ปลุกได้ 1 พรรษาเต็ม ๆ และหลังจากออกพรรษาแล้วได้ปลุกเสกต่อไปอีกหลายเดือนจนถึงงานวันเกิดของหลวง ปู่จึงได้แจกจ่ายหมดไป พระรุ่นนี้มีประสบการณ์ด้านเมตตามหานิยมเป็นเยี่ยม ใครมีโอกาสได้พบเห็นจงแสวงหาเอาไว้เถิด เพราะเป็นของดีใช้ผงพุทธคุณจากหลวงปู่บุญ และหลวงปู่เพิ่มจำนวนมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเนื้อสีขาวนั้นเป็นผงล้วน ๆ ทีเดียว

พระผงรุ่นที่ 5

พระผงรุ่นนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2517 เนื่องในโอกาสทำบุญอายุ 89 ปี ของหลวงปู่ พระปลัดใบดำเนินการแกะแม่พิมพ์เอง โดยใช้หินมีดโกนแกะเป็นพิมพ์พระสมเด็จและพิมพ์นางพญาสองพิมพ์ด้วยกัน

พิมพ์พระสมเด็จทุกองค์จะมีอักษรขอมจารไว้ด้านหลังเป็น “พ” สองตัว ซึ่งหมายถึง “เพิ่ม พงษ์อัมพร” อันเป็นชื่อ – สกุลของหลวงปู่และมีตัว “เฑาะว์มหาอุด” และ “เฑาะว์มหาพรหม” ลายมือที่จารนี้มิใช่เป็นลายมือของหลวงปู่ เพราะท่านจารไม่ค่อยสะดวกแล้ว จึงได้มอบให้พระปลัดใบเป็นผู้จารก่อน ท่านได้เรียกพระปลัดใบไปหาพร้อมให้นำดอกไม้ธูปเทียนไปด้วยแล้วถ่ายทอดวิชา ต่าง ๆ ให้ตลอด จากการเรียนสูตรสนธิต่าง ๆ และการจารอักขระแล้วจึงประสิทธิ์ประสาทวิชาให้พระปลัดใบเป็นครั้งแรก จากนั้นได้มอบให้จารพระรุ่นนี้แทนท่านทั้งหมด

พระสมเด็จและพระพิมพ์นางพญาปลายติดทั้งสองพิมพ์นี้มีสาม เนื้อด้วยกันคือ

1.เนื้อสีขาว เป็นเนื้อผงล้วน ๆ มิได้ผสมมวลสารอย่างอื่น เนื้อพระละเอียด หนักแน่น มีความแกร่ง

2.เนื้อสีแดง พระปลัดใบได้นำเอาชานหมากของหลวงปู่มาผสมกับว่านสบู่เลือด และผงพุทธคุณตลอดจนแร่เกาะล้านบดเนื้อพระจะแลดูสีแดงเข้ม และมีแววของแร่เกาะล้านตามบริเวณทั่วไปขององค์พระ

3.เนื้อสีดำ เป็นเนื้อผงผสมใบลานเผาซึ่งได้มาจากใบลานชำรุดของวัดใหม่สุคนธารามจำนวนมาก ได้เอามาเผาที่วัดกลางบางแก้วแล้วเอามาบดทำพระรุ่นนี้

พระผงรุ่นนี้ทั้งพิมพ์สมเด็จและนางพญาปลายตัด ขณะนี้หาได้ยากแล้วเพราะสร้างไว้ทั้ง

สองพิมพ์ประมาณ 200 องค์เท่านั้น และเป็นพระอีกพิมพ์หนึ่งที่มีประสบการณ์ด้านการใช้มาก ใครมีก็หวงแหน

พระผงรุ่นที่ 6

สร้างในโอกาสทำบุญอายุครบ 90 ปี พ.ศ. 2518 เป็นพระผงซึ่งแบ่งออกได้ 2 พิมพ์คือ

พิมพ์ปิดตา ซึ่งนับได้ว่าเป็นพระปิดตารุ่นแรกของหลวงปู่เพิ่มก็ว่าได้ เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยสร้างพระปิดตาเลย ด้านหน้าเป็นพระปิดตาลักษณะพิมพ์ป้อมอ้วนมีสะดือเป็นจุดนูนตรงพิมพ์แบบปลาย มนด้านหลังเป็นหลังเบี้ยอูมนูน แม่พิมพ์ใช้หินมีดโกนขนาดส่วนสูงองค์พระประมาณ 2.5 ซม.

พิมพ์นางกวัก ก็นับว่าเป็นนางกวักรุ่นแรกของหลวงปู่เช่นเดียวกัน ด้านหน้าเป็นรูปนางกวักนั่งพับเพียบอยู่บนฐานขีดสองชั้น และมีซุ้มแบบซุ้มประตูโค้ง มีลวดลายด้านบน ด้านหลังเป็นแบบหลังเบี้ย แต่ไม่นูนสูงนัก ขนาดพิมพ์ส่วนสูงประมาณ 2.8 ซม.

พระผงรุ่นนี้ทั้งสองพิมพ์ดังกล่าวมี 2 เนื้อ ด้วยกันคือ เนื้อสีขาวอมเหลืองซึ่งเป็นเนื้อผงผสมกับเกสรดอกไม้จากโต๊ะหมู่บูชาพระหลวง ปู่และเกสรดอกไม้มงคล 9 ชนิด ส่วนอีกเนื้อหนึ่งมีสีแดงเข้ม เป็นเนื้อผงผสมชานหมากและว่าน

ทั้งพิมพ์นางกวักและพิมพ์ปิดตาที่ใต้ขอบองค์พระจะเจาะรู เอาไว้ทุกองค์ และรูที่เจาะไว้ด้านล่างองค์พระนั้นจะมีผงสีขาวบรรจุอยู่ ซึ่งเป็นผงเก่าของหลวงปู่บุญ หากสังเกตด้วยกล้องส่องจะเห็นว่าผงที่บรรจุนั้นมีสีขาวนวล จำนวนที่สร้างขึ้นประมาณพิมพ์ละ 1,000 องค์เท่านั้น

พระผงรุ่นที่ 7

พระผงรุ่นที่ 7 สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2520 เนื่องในโอกาสทำบุญอายุ 92 ปี ของหลวงปู่เพิ่ม จำแนกได้เป็นสามพิมพ์ด้วยกันคือพิมพ์พระประจำวันเกิด ลักษณะเป็นพระยืนปางรำพึงซึ่งเป็นวันเกิดของหลวงปู่ พิมพ์นี้อาจารย์อวบ สาณะเสน เป็นผู้ออกแบบแล้วมอบให้ช่างสนั่น วัดเครือวัลย์เป็นผู้แกะแม่พิมพ์เป็นทองเหลือง ลักษณะด้านหน้าเป็นองค์พระยืนปางรำพึงอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้วประทับยืนบน อาสนะฐานบัว ด้านหลังเป็นตัวเฑาะว์ขึ้นยอดตรงปลายบนแล้วมีอักษรไทยเขียนว่า “หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางพระ”พิมพ์เสน่ห์นางพญา ลักษณะเป็นพระปางมารวิชัยประทับนั่งบนอาสนะแบบโต๊ะมีขาแข้งสิงห์ ด้านข้างองค์พระมีลายกนกเครือเถาทั้งสองข้าง อาจารย์อวบ สาณะเสน เป็นผู้ออกแบบพิมพ์เช่นกัน และที่ปลายมุมฐานสองข้างตัดปลายแหลมออก หากพิจารณาแล้วจะเห็นว่ามี 5 เหลี่ยม ด้านหลังมียันต์เฑาะว์มหาพรหม และมีอักษรไทยเขียนว่าวัดกลางบางแก้ว พระพิมพ์นี้ตอนออกให้ทำบุญเรียกว่าพิมพ์ “เสน่ห์นางพญา” เนื้อพระทั้งสองพิมพ์จะไม่เหมือนกัน พิมพ์พระประจำวันจะมีเนื้อสีเทา และสีดำ ด้านหลังจะมีเส้นเกศาของหลวงปู่ประทับไว้ในเนื้อพระมองเห็นได้ชัด ส่วนเนื้อพระพิมพ์เสน่ห์นางพญาจะมีสามเนื้อ คือ สีเหลือง สีเทา และสีดำ ซึ่งเนื้อพระพิมพ์นี้นอกจากผงและผงใบลานแล้วได้เพิ่มเม็ดยาจินดามณีของหลวง ปู่บดผสมลงไปจำนวนมากประมาณ 100 เม็ด ซึ่งหลวงปู่เพิ่มมอบให้พระปลัดใบบดใส่ลงไป และว่านเสน่ห์จันทร์แดง ขาว ดำ อีกจำนวนมาก จึงชื่อว่า “เสน่ห์นางพญา”พิมพ์พระปิด พระพิมพ์นี้ลักษณะเป็นพระปิดตาอยู่รูปพิมพ์สีคล้ายรูปไข่ องค์พระอวบอ้วนนั่งฐานท้องของพระมีอักขระ “เฑาะว์มหาอุด” ด้านหลังเป็นยันต์ “เฑาะว์มหาพรหม” มีเส้นขอบรอบองค์พระทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ขนาดเล็กกะทัดรัดงดงามมาก พระพิมพ์นี้หลวงปู่ได้ให้เอาลูกอมของหลวงปู่บุญที่เหลืออยู่มาบดผสมลงไปด้วย และพระปลัดใบไปได้ผงเก่าจากวัดใหม่สุคนธารามมาจำนวนหนึ่งจึงเอามาผสมกับผง หลวงปู่บุญ หลวงปู่เพิ่ม แยกเป็นสองเนื้อ คือ เนื้อผงผสมผงใบลานสีเทาอมดำ และเนื้อผงผสมเกสรดอกไม้ 9 ชนิด เนื้อออกสีเหลืองนวล เนื้อพระจะแตกต่างไปจากพิมพ์พระประจำวันและพิมพ์เสน่ห์นางพญา เนื้อพระปิดตารุ่นนี้จะมีความแกร่งแข็งเป็นพิเศษ เพราะตำได้ละเอียดและมีส่วนผสมดีมากจำนวนที่สร้างพิมพ์พระประจำวัน และพิมพ์เสน่ห์นางพญาประมาณพิมพ์ละ 1,000 องค์

ส่วนพิมพ์ปิดตาสร้างไว้มากถึง 3,000 องค์ ขณะนี้ที่วัดกลางบางแก้วก็ยังมีให้ทำบุญเพราะเหลือจากครั้งนั้น โดยให้ทำบุญเพียงองค์ละ 20 บาทเท่านั้น

พระผงรุ่นที่ 8

พระผงรุ่นนี้สร้างในราวปี พ.ศ. 2524 ด้วยเนื้อผงล้วนและเนื้อผงผสมชานหมากของหลวงปู่จึงมี 2 สีด้วยกัน คือ สีขาวและสีอมแดงน้ำตาล มีสองเนื้อทั้ง 5 พิมพ์ คือพิมพ์ลีลาข้างเม็ด แกะพิมพ์ใหม่เลียนแบบลีลาข้างเม็ด(ลีลาหนังตะลุง) ของหลวงปู่บุญแต่องค์พระกว้างกว่า พระพิมพ์นี้ค่อนข้างบาง จำนวนสร้างราว 500 องค์พิมพ์ปางรำพึง เป็นพิมพ์พระประจำวันของหลวงปู่ องค์พระประทับยืนบนฐานบัวขอบซุ้มโดยรอบเป็นลายกนกขอบสูง การแกะพิมพ์คมชัดงดงามพิมพ์เข่าตุ่ม  ลักษณะพิมพ์แบบสมาธิประทับนั่งบนฐานสามชั้น ขอบนอกตัดโค้งมนปลายแบบครอบแก้ว มีเส้นลวดเป็นซุ้มโค้งโดยรอบ ลักษณะเด่นที่เข่าสองข้างแกะพิมพ์นูนเป็นตุ่มสูงขึ้นมาพิมพ์ปิดตา ลักษณะเป็นพระปิดตาองค์?พระอวบอ้วน มือที่ยกขึ้นปิดตาปรากฏเห็นเส้นนิ้วชัดเจน องค์พระค่อนข้างใหญ่แต่บางพิมพ์ สมเด็จคะแนนเล็กฐานสามชั้น องค์พระถึงแม้จะเล็ก แต่การแกะพิมพ์คมชัดสวยงามพระทั้ง 5 พิมพ์ของพระผงรุ่นที่ 8 นี้ ขณะนี้ทางวัดมีเหลืออยู่บ้างเล็กน้อย และถือว่าเป็น

พระผงรุ่นสุดท้ายของหลวงปู่ก็ว่าได้

นอกจากพระเครื่องชนิดต่าง ๆ ตามที่ได้เสนอมาโดยลำดับแล้ว หลวงปู่ได้สร้างวัตถุมงคลอีกชนิดหนึ่งขึ้นไว้ให้เฉพาะบุคคลมิได้ทำให้เช่า บูชาแต่ประการใดนั่นคือ “ผ้าประเจียดพิรอด”

“ผ้าประเจียดพิรอด” ของหลวงปู่ส่วนมากผู้ที่รู้ว่าท่านทำได้ขลังจะนำผ้าแดงขนาดกว้างประมาณ 1 นิ้ว ยาวประมาณ 5 นิ้วไปมอบให้ท่านขอให้ท่านทำให้ การทำของหลวงปู่ดูแล้วก็ไม่ยาก ท่านจะเอาผ้าผืนนั้น ซึ่งมีลักษณะเล็ก ๆ แต่ยาวพันไว้ระหว่างนิ้วมือสามนิ้ว คือ นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง แล้วท่านจะภาวนาคาถาจบผ้าผืนนั้นก็จะขมวดเข้าหากันเป็นเงื่อนพิรอดเสร็จพอดี ก็เป็นอันเสร็จสิ้น การทำ “ผ้าประเจียดพิรอด”

อานุภาพของ “ผ้าประเจียดพิรอด” นี้มีความขลังมาก โดยเฉพาะทางด้านแคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ผู้ที่เป็นศิษย์หลวงปู่ได้รับไปแล้ว มักจะมีความหวงแหนกันเป็นพิเศษ เพราะเป็นของที่ทำให้เฉพาะตนและรับกับมือของท่านเอง กำนันลิ หวังสวาสดิ์ หรือ กำนันรงค์ชัย ศิษย์หลวงปู่ท่านหนึ่งเล่าว่า ลูกชายของแกเป็นทหารออกไปรบที่เขาค้อสมัยที่การรบที่นั่นยังดุเดือดเลือด พล่าน แกได้มอบผ้าประเจียดพิรอดของหลวงปู่เพิ่มให้ติดตัวไปและทำแจกให้แก่เพื่อน ของลูกชายซึ่งเป็นทหารในหน่วยรบเดียวกันตลอดเวลาการรบที่เขาค้อแม้จะผ่านการ ต่อสู้ชนิดประจัญบานหลายต่อหลายครั้งที่ผ่านไป ปรากฏว่าทหารหน่วยรบซึ่งมีผ้าประเจียดพิรอดของหลวงปู่ล้วนแต่รอดปลอดภัยจาก อาวุธทุกชนิดตลอดมาจนกระทั่งสมรภูมิแห่งนั้นสิ้นสุดการรบลง ทั้งลูกชายของแกและเพื่อนทหารของลูกซึ่งมีผ้าประเจียดพิรอดของหลวงปู่เพิ่ม ติดตัวอยู่ไม่ได้รับอันตรายแม้แต่น้อย

นายแวว สังอรัญ เล่าว่าผ้าประเจียดพิรอดของหลวงปู่เพิ่มดีทางงูยิ่งนัก ตัวของนายแววเป็นชาวนานครปฐม ชอบออกหาปลาเวลาฝนตกและขุดลอกบ่อหาปลาอยู่เสมอ ทุกครั้งจะต้องมีผ้าประเจียดของหลวงปู่เพิ่มติดตัวเอาไว้เป็นประจำ เพราะเรื่องงูวิเศษยิ่งนัก นายแววเล่าว่าครั้งหนึ่งเขาพบงูเห่าในบ่อที่ไปหาปลามันตรงเข้าหาเขาแล้ว “ฉก” เพื่อกัดแต่ฉกอยู่ห่างจากตัวเพียงคืบเดียวเท่านั้นก็ไม่สามารถฉกเข้าถึงตัว ได้ คงแผ่แม่เบี้ยค้างอยู่แค่นั้นเอง อีกคราวหนึ่งเขาเดินไปในทุ่งนาท่ามกลางหญ้ารก ไปเหยียบเอาบนหลังงูสามเหลี่ยม มันจึงแว้งกลับตัวมาจะกัดที่น่อง ปรากฏว่าแว้งกลับมาอยู่ห่างจากน่องเพียงเล็กน้อย แล้วอ้าปากค้างไม่สามารถกัดเขาได้ ทั้งที่ตัวนายแววมีเพียงผ้าประเจียดพิรอดของหลวงปู่เพิ่มติดกระเป๋าเสื้อ อยู่เพียงผืนเดียวเท่านั้น แสดงถึงอานุภาพของผ้าประเจียดพิรอดหลวงปู่เพิ่มมีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก

ผ้ายันต์

ผ้ายันต์ของหลวงปู่เพิ่ม นอกจากผ้ายันต์มีผู้เคารพนับถือจะนำผ้ามาให้ท่านลงด้วยมือเพื่อเอาไปปกป้อง คุ้มครองบ้านเรือนแล้วก็มีผ้ายันต์ซึ่งสร้างขึ้นโดยการพิมพ์จำนวนมาก เพื่อให้ผู้เลื่อมใสหลวงปู่ได้ทำบุญไปบูชาอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งทางวัดได้สร้างขึ้น 2 ครั้ง 2 แบบด้วยกันคือ

1.ผ้ายันต์ขาว รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตรงกลางผ้าเป็นรอยพิมพ์หมึกสีดำ ลักษณะเป็นลายมือเขียนและมีอักษรภาษาไทยเขียนว่า “ยันต์นี้ของพระพุทธวิถีนายก (หลวงปู่บุญ)”ผ้ายันต์รุ่นนี้สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2507 จำนวนไม่ทราบแน่นอน แต่ขณะนี้เหลืออยู่ประมาณ 200 ผืน
2.ผ้า ยันต์เหลือง ลักษณะเป็นรูปธงปลายแหลมเป็นหลวงปู่บุญนั่งสมาธิ แล้วมีอักษรไทยเขียนว่า “พระพุทธวิถีนายก (หลวงปู่บุญ ขันธโชติ) วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม” ด้านข้างรูปแถบชายธงเป็นยันต์มากมายหลายยันต์จนสุดปลายชายธง รุ่นนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 2519 จำนวน 1,000 ผืน มีคนทำบุญหมดไปแล้ว

รูปเหมือนขนาดบูชา 5 นิ้ว

พระปลัดใบ คุณวีโร ได้จัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2525 จำนวน 1,000 องค์ เป็นรูปปั้นหลวงปู่ห่มสังฆาฏิ สวมแว่น ลักษณะฝีมือการปั้นมีเค้าเหมือนหลวงปู่มาก รูปเหมือนที่พระปลัดใบจัดสร้างนี้เป็นการสร้างของวัดกลางบางแก้วโดยตรง เป็นเนื้อทองเหลืองรมสีน้ำตาล ใต้ฐานบรรจุผงแล้วเทปูนปลาสเตอร์ปิดทับเอาไว้ การสร้างรูปเหมือนหลวงปู่เพิ่มครั้งนี้ ได้ทำการสร้างรูปเหมือนหลวงปู่บุญขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว และ 9 นิ้ว ขึ้นด้วย การเทได้จัดให้มีการเทพร้อมกันเบ้าเดียวกัน โดยใช้แผ่นยันต์ของหลวงปู่เพิ่มและชนวนพระชัยวัฒน์ของหลวงปู่บุญหล่อหลอม เป็นเนื้อโลหะ

หลวงปู่เพิ่มเป็นพระเถระที่ทรงศีลบริสุทธิ์ผุดผ่อง ขาดการข้องแวะกับโลกภายนอก แม้การบูรณะพัฒนาวัดกลางบางแก้ว ท่านก็มิได้เกี่ยวข้องยกให้เป็นหน้าที่ของพระปลัดใบ คุณวีโร ทั้งหมด ท่านคงบำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อการหลุดพ้นเท่านั้น ยิ่งวัยชราภาพของท่านทวีมากขึ้น ดูเหมือนหลวงปู่จะมีบุญญาราศีผุดผ่องเพิ่มทวีอย่างประหลาด ใครเคยไปกราบนมัสการหลวงปู่จะเห็นว่า ท่านอุดมด้วยราศีผุดผ่อง อันเนื่องมาจากบุญญาบารมีในการปฏิบัติธรรมของท่านนั่นเอง

อีกไม่นานจะถึงวันทำบุญอายุครบ 98 ปีของท่าน คือวันที่ 28 มกราคม 2526 พระปลัดใบได้ขึ้นไปปรึกษากับหลวงปู่ว่าปีนี้จะสร้างของที่ระลึกแจกผู้ร่วม งานอย่างใดดี หลวงปู่ขณะนั้นยังแจ่มใส แข็งแรงดี ก็กล่าวว่า “ปีนี้เห็นจะไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น” พระปลัดใบก็บอกว่าไม่ทำคงไม่ได้ เพราะมีคนมามากไม่มีอะไรแจกไม่เหมาะเพราะเคยแจกกันมาทุก ๆ ปี หลวงปู่ท่านฟังดังนั้นท่านก็ว่า “ท่านใบไม่ต้องเร่งร้อน ไม่ต้องทำอะไรไว้หรอก”

เมื่อหลวงปู่ย้ำเช่นนั้น พระปลัดใบก็ไม่รู้จะกล่าวประการใด จึงได้กราบลากลับไปยังกุฏิ ในฉงนสนเท่ห์ใจเพราะทุก ๆ ปี ขึ้นไปกราบเรียนท่านก็แนะว่า ตามใจท่านใบจะทำอะไรแจกเช่นนี้เสมอ

เช้าวันที่ 4 มกราคม 2526 ผู้เขียนเดินทางไปวัดกลางบางแก้วเข้านมัสการกราบหลวงปู่เพราะเป็นโอกาสวันปี ใหม่ แม้ล่วงมา 4 วันแล้วก็คงเป็นวันแรกของปีเพื่อขอพรจากท่าน ผู้เขียนสนทนากับท่านอยู่นานกว่าปกติ ท่านคงยิ้มแย้มแจ่มใส ฉนหมากได้ดีเหมือนเคย ผู้เขียนก็ตำหมากถวายท่านก่อนจะเอ่ยปากลาจากท่านในวันนั้น ท่านเรียกผู้เขียนเข้าไปแล้วหยิบเหล็กจาร จารบนกระหม่อมให้

ตามความรู้สึกจากบนศีรษะทราบว่าท่านจารตัว “เฑาะว์มหาอุด” ตรงกลางด้านซ้ายของเฑาะว์มหาอุด จารตัว “อะ” ด้านขวาจารตัว “อัง” บนเฑาะว์มหาอุด ท่านจาร “เฑาะว์มหาพรหม” ซึ่งนับเป็นเรื่องแปลก ปกติท่านจารตัว “นะ” บ้าง “เฑาะว์มหาพรหม” บ้างเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อจารแล้วท่านเป่าลงบนศีรษะผู้เขียน เย็นวูบไปตลอดร่างแม้ลมเป่าจะเบาบางก็ตาม ใครเคยให้หลวงปู่เป่ากระหม่อมจะทราบดีว่า กระแสปราณที่ท่านเป่าบนกระหม่อมให้ความนั้นแม้จะบางเบา แต่ก็ทำให้เยือกเย็นสะท้านไปทั้งร่างกาย ปกติผู้เขียนมักจะขอให้ท่านลงและเป่าให้ แต่คราวนี้ท่านเรียกไปเป่าเองจึงเกิดความปีติเป็นล้นพ้น

เช้าวันที่ 5 มกราคม 2526 พระปลัดใบเข้าไปหาท่านเพื่อปรึกษาเรื่องการก่อสร้างภายในวัด เห็นท่านแจ่มใสเหมือนปกติ พูดจาเสียงแจ่มใสเหมือนเดิม เมื่อปรึกษาเสร็จแล้วพระปลัดใบจะลากลับท่านบอกพระปลัดใบว่า “ท่านใบ พรุ่งนี้ฉันไปก่อนล่ะนะ”

พระปลัดใบเล่าว่า ท่านบอกเช่นนั้นแล้ว ก็นึกว่าท่านจะไปธุระที่ไหนไม่ได้คิดเรื่องอื่น จึงกราบลาออกมา แต่ก็นึกว่าใครนิมนต์ท่านไปไหนละมั้ง แต่ปกติไม่เคยมีนิมนต์ไปนอกวัดมานานแล้ว ด้วยกิจการก่อสร้างมีมากจึงไม่ได้คิดอย่างอื่นต่อไป

เวลา 20.00 น. วันที่ 5 มกราคม 2526 พระอาจารย์หลอ มาตามพระปลัดใบว่าหลวงปู่ป่วยมีไข้และเป็นลมขึ้น พระปลัดใบเข้าไปดูอาการให้ตามหมอมาดู แต่ก็ไม่มีทีท่าป่วยอะไรมากมายนัก

วันที่ 6 มกราคม 2526 เวลา 04.50 น. พระที่เฝ้าดูอาการหลวงปู่เล่าว่าท่านหลับตานิ่ง ลมหายใจแผ่วเบาช้าลงเรื่อย ๆ และหยุดไปในที่สุด นับเป็นการลาจากไปอย่างสงบนิ่ง ทิ้งไว้แต่อนุสรณ์คุณงามความดีของท่านเท่านั้น

เช้าวันนั้นประชาชนที่ทราบข่าวต่างทยอยเข้าคารวะศพหลวง ปู่ไม่ขาดสายท่ามกลางความเศร้าสลดและบรรยากาศแห่งความสูญเสียร่มโพธิ์ทองของ วัดกลางบางแก้วไปอย่างไม่มีวันกลับคืนมา หลังจากนั้นมาอีกเพียง 1 ปีพระปลัดใบ คุณวีโร ก็มรณภาพตามหลวงปู่ไป ตามคำกล่าวเป็นปริศนาของท่านที่เคยกล่าวกับพระปลัดใบไว้ว่า “ท่านใบ พรุ่งนี้ฉันไปก่อนล่ะนะ
ผลงานการบูรณปฏิสังขรณ์
พ.ศ. 2485 ก่อสร้างโรงเรียนเพิ่มวิทยามูลนิธิ โดยสร้างอาคารไม้สองชั้นข้างโรงเรียนประชาบาลพุทธวิถีประสิทธิ์ ให้เป็นโรงเรียนมัธยมสำหรับกุลบุตร กุลธิดา ได้ศึกษาเล่าเรียนชื่อว่า “โรงเรียนเพิ่มวิทยา” (ทำพิธีเปิดเรียนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2485) และต่อมาได้สร้างตึกเพิ่มวิทยาขึ้น (พ.ศ. 2500 ) จึงได้รื้ออาคารไม้หลังนี้ไปเสริมต่ออาคารเรียนทางด้านทิศตะวันตกของตึก เพิ่มวิทยา

พ.ศ. 2506 ได้รื้อตึกที่เจ้าคุณในตึกเจ้าอาวาสองค์ก่อนเคยอยู่ออก แล้วสร้างตึกใหม่มีช่อฟ้าใบระกาหลังคามุงกระเบื้องเคลือบ (อนุสาวรีย์) นำรูปท่านเจ้าคุณพุทธวิถีนายก (บุญ ขันธโชติ) ไปประดิษฐ์ไว้เป็นอนุสรณ์ สำหรับให้บรรดาศิษยานุศิษย์และผู้เคารพนับถือท่านเป็นที่สักการบูชา

พ.ศ. 2507 ได้ปรับปรุงเสนาสนะเขตสังฆาวาสใหม่หมดให้แลดูเหมาะสม

พ.ศ. 2508 ได้สร้างฌาปนสถานขึ้นที่บริเวณด้านใต้ของวิหาร ในการนี้ต้องถมสระน้ำของเดิมที่มีอยู่เพราะบริเวณสถานที่ไม่พอ

พ.ศ. 2509 หลังคาวิหารชำรุด ได้ซ่อมแซมใหม่ทั้งหมดและทาสีวิหารใหม่

พ.ศ. 2510 สร้างกุฏิสงฆ์ใหม่อีกหลายหลัง เพื่อให้เพียงพอแก่พระภิกษุสามเณร

พ.ศ. 2511 กำแพงพระอุโบสถโดยรอบแตกร้าวมานานแล้ว จึงได้ตกลงดำเนินการก่อสร้างใหม่ และทำการปรับพื้นโดยรอบโบสถ์ให้แลดูเหมาะสมยิ่งขึ้น

พ.ศ. 2516 ศาลาการเปรียญหลังใหญ่ ซึ่งสร้างแต่สมัยหลวงปู่บุญชำรุดได้บูรณะใหม่ตั้งแต่หลังคาตลอดจนพื้นไม้ ทั้งหมด

พ.ศ. 2517ปรับปรุงซ่อมสร้างกุฏิสงฆ์ชายแม่น้ำให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เทพื้นคอนกรีตเชื่อมโยงให้สะดวกแก่การสัญจรซ่อมสร้างบูรณะช่อฟ้าใบระกา โบสถ์และเปลี่ยนกระเบื้องหลังคา ศาลาตรีมุข หน้าพระอุโบสถใหม่ปฏิสังขรณ์มณฑปที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทใหม่ทั้งหมดจนบัดนี้แลดูงดงาม เหมือนของเดิมพระพุทธวิถีนายก (เพิ่ม ปุญญวสโน) เจริญอายุได้ 97 ปี พรรษาที่ 77 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ดำรงสมณเพศอย่างเคร่งครัดด้วยศีลาจารวัตรเป็นที่ เลื่อมใสศรัทธาแก่ประชาชนทั่วไป เสียสละตนเพื่อประโยชน์แก่สังคม สร้างคุณอเนกแก่กุลบุตร กุลธิดา ด้วยการก่อสร้างและทำนุบำรุงการศึกษาให้เจริญงอกงามไพบูลย์ นับว่าท่านได้สร้างคุณงามความดีไว้ไพศาลยิ่ง เมื่อกาลที่ท่านต้องจากไปก็ยังความเศร้าสลดแก่บรรดาสานุศิษย์และประชาชนที่ เคารพนับถือท่านอย่างยิ่ง
เบี้ยแก้
หลวงปู่มักจะเป็นผู้ถ่อมตนในการสร้างวัตถุมงคลอยู่เสมอ ใครจะมาขอมงคลวัตถุจากท่านก็ตามท่านมักจะมอบให้แล้วบอกให้ผู้รับอย่าตั้ง อยู่ในความประมาท และเมื่อมีใครก็ตามถามหลวงปู่ว่าของหลวงปู่ดีอย่างไร ท่านก็จะบอกได้แต่เพียงว่าให้ไว้เป็นที่ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพียงเท่านั้นเอง การสร้างมงคลวัตถุของหลวงปู่หากจะลำดับว่าท่านสร้างอะไรเป็นสิ่งแรก แล้วก็คงต้องบอกว่า “เบี้ยแก้” เพราะท่านสร้างมานานมาก หลังจากท่านครองเจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้วได้ไม่กี่ปี ผู้เขียนเคยถามท่านว่า ท่านสร้างครั้งแรกเมื่อใด ท่านตอบว่าจำไม่ได้เสียแล้วรู้เพียงว่าเมื่อเป็นเจ้าอาวาสได้ไม่นาน ซึ่งก็คงจะราว ๆ ปี พ.ศ. 2485 เพราะท่านเป็นเจ้าอาวาสเมื่อปี พ.ศ. 2482 ท่านเล่าว่ามีญาติโยมเขามาขอให้ท่านทำให้ ท่านก็บอกปัดไปหลายครั้งหลายหน แต่ในที่สุดก็ทนโยมที่มาขอร้องอยู่เสมอไม่ได้จึงทำให้ไปตามความรู้ความ สามารถที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากหลวงปู่บุญและเมื่อทำไปแล้วก็มีคนมาขอให้ทำ ให้ต่อมาโดยมิขาด ในช่วงเวลาอันยาวนานถึง 40 ปี หลวงปู่สร้างเบี้ยแก้ให้บรรดาศิษย์ และผู้เคารพนับถือท่านไม่น้อย ผู้ที่ได้ไปต่างก็หวงแหน เพราะเป็นของขลังประจำตัวมิได้ให้กันง่าย ๆ ส่วนใหญ่ก็มักจะให้ท่านทำให้ไว้คนละ 1 ตัวเท่านั้น หลวงปู่เป็นอุปัชฌาย์บวชให้กุลบุตรมาจำนวนนับพันคน ผู้ที่หลวงปู่บวชให้แต่ละคนส่วนมากก็จะมีเบี้ยแก้ของหลวงปู่เสมอไป เพราะระหว่างบวชอยู่ก็จัดเตรียมเครื่องทำเบี้ยแก้ไปถวายให้หลวงปู่ทำให้

กรรมวิธีการทำเบี้ยแก้ของหลวงปู่เพิ่ม ผู้ที่ต้องการเบี้ยแก้จะต้องไปจัดหา หอยเบี้ย 1 ตัว ปรอทน้ำหนัก 1 บาท ชันนะโรงใต้ดินกลางแจ้ง 1 ก้อน แผ่นตะกั่วขนาด 4 x 5 นิ้ว 1 แผ่น เอาของทั้งหมดใส่ถาดพร้อมดอกไม้ธูปเทียนไปถวายหลวงปู่ท่านจะรับสิ่งของเอา ไว้ จากนั้นท่านจะเสกปรอทแล้วเทปรอทจากขวดใส่ฝ่ามือเรียกเอาปรอทใส่เบี้ย แล้วอุดด้วยชันนะโรงที่ปากหอย จากนั้นท่านจะส่งถาดคืนให้พร้อมหอยที่กรอก แล้วบางทีท่านจะบอกว่า “ไปขอให้ท่านสมุห์เจือเขาทำให้นะจ๊ะ” หมายถึงผู้ที่ทำเบี้ยแก้จะต้องเอาสิ่งของดังกล่าวไปหาพระสมุห์เจือกุฏิริม แม่น้ำนครชัยศรี สมุห์เจือก็จะเอาแผ่นตะกั่วมาห่อหุ้มหอยเบี้ยที่กรอกปรอทเอาไว้แล้วใช้ด้าม มีดเคาะจนแผ่นตะกั่วแนบสนิทกับตัวหอย ปฏิบัติการนี้นานประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง จนกระทั่งแผ่นตะกั่วเรียบสนิทดี ฝีมือการเคาะนี้หากไม่มีความชำนาญ เบี้ยจะออกมาไม่สวย และเมื่อเอาให้หลวงปู่ลงจารอักขระจะจารยากมาก พระสมุห์เจือมีความชำนาญมาก ท่านเคาะเบี้ยแก้เป็นประจำมานานไม่น้อยกว่า 30 ปีแล้ว จนปัจจุบันท่านรับภาระทำเบี้ยแก้แทนหลวงปู่ได้ขลังและเป็นที่รู้จักกันดี ทั่วไป

เมื่อหุ้มตะกั่วแล้วผู้ทำเบี้ยจะต้องนำเบี้ยแก้ที่หุ้ม นั้นไปหาหลวงปู่อีกครั้ง ถวายให้ท่านลงจารอักขระบนตะกั่วที่ห่อหุ้มเบี้ยเอาไว้ บางรายก็เอาผ้าแดงผืนเล็ก ๆ ให้หลวงปู่ลงยันต์ให้ด้วยก็มี พอท่านจารเสร็จก็จะปลุกเสกให้ บางทีท่านอาจให้มารับวันหลัง บางทีท่านก็จะปลุกเสกให้เดี๋ยวนั้น

หลังจากหลวงปู่ปลุกเสกและจารอักขระให้เสร็จก็เป็นอันว่า เสร็จเรียบร้อย แต่ส่วนใหญ่จะนำเอาเบี้ยแก้ที่ปลุกเสกเสร็จแล้วกลับไปหา “สมุห์เจือ” อีกครั้งหนึ่งเพื่อขอให้ท่านถักเชือกหุ้มห่อหอยเบี้ยแก้ให้ ซึ่งพระสมุห์เจือมีฝีมือการถักเป็นเยี่ยมมาก ภายหลังท่านถักไม่ไหวเพราะมีมาก จึงมอบให้พระพีระ อภิวัฒโน ช่วยถัก ซึ่งมีฝีมืองดงามพอ ๆ กัน เพราะท่านเป็นพระอารมณ์เย็นทำได้ประณีตบรรจง แต่ปัจจุบันนี้ทั้งสององค์นี้มีภาระมากเกินจะทำให้ได้

เบี้ยแก้ที่ถักมักจะใส่ห่วงทองแดงสำหรับคล้อง มีรูร้อยเชือกแบบห่วงคู่ ภายหลังมีห่วง สแตนเลสอย่างดีจึงเป็นข้อสังเกตได้ว่า รุ่นแรก ๆ มักจะเป็นห่วงทองแดง ส่วนรุ่นหลัง ๆ มักจะเป็นสแตนเลส แต่รุ่นหลัง ๆ ที่ใช้ทองแดงก็มีเหมือนกัน ส่วนบางท่านยึดเอาเป็นข้อพิจารณาว่าของหลวงปู่บุญเป็นห่วงทองแดง หลวงปู่เพิ่มเป็นห่วงสแตนเลสทั้งหมดนั้นเป็นความเข้าใจผิดทั้งสิ้น

การลงอักขระบนตัวหอยเบี้ยแก้ของหลวงปู่เพิ่มรุ่นแรก ๆ จะมีความคล้ายคลึงกับหลวงปู่บุญ กล่าวคือท่านจะลง “เฑาว์มหาอุตม์” “เฑาะว์มหาพรหม” (ขึ้นยอด) และ “อัง” เอาไว้บนหลังเบี้ย ส่วนใต้ท้องเบี้ยจะลง “พุทธซ้อน” ต่อมาภายหลังท่านสายตาไม่ค่อยดี ท่านมักจะลงเฉพาะส่วนหลังเบี้ยเท่านั้น ข้อนี้พอจะจำแนกเบี้ยรุ่นแรก ๆ กับรุ่นหลัง ๆ ได้ค่อนข้างแน่นอน

การลงรักหรือยางมะพลับนั้นอยู่ที่ผู้ทำเบี้ยแก้ว่าชอบ อย่างใด มักจะทำอย่างนั้น บางรายไม่ลงรักหรือยางมะพลับแต่เอาไปทาเคลือบน้ำมัน “ซิกมาว่า” ก็มี “ยูริเทน” ก็มี สิ่งเหล่านี้เอาเป็นข้อยุติมิได้แน่นอน

ในระหว่างนี้มีคนเริ่มแสวงหาเบี้ยแก้ของ “หลวงปู่เพิ่ม” กันจำนวนมาก ผู้เขียนก็ขอให้สังเกตไว้ว่า การดูหรือพิจารณานั้นเป็นเรื่องยากมาก เพราะของปลอมทำขึ้นเหมือนของแท้ และของแท้ส่วนใหญ่เจ้าของที่ได้รับจากหลวงปู่เอาไว้นั้นโดยมากแล้วก็จะมี ประจำตัวกันคนละ 1-2 ตัวเป็นอย่างมาก จึงยากที่จะให้กันได้ง่าย ๆ จึงขอให้ระมัดระวังทั้งฟังด้วยหูและดูด้วยตาอย่างรอบคอบเป็นพิเศษ

การอาราธนาเบี้ยแก้หลวงปู่เพิ่ม เรื่องนี้ผู้เขียนเคยสอบถามท่านไว้ท่านบอกว่าให้รำลึกถึงพระคุณพระธรรม พระสงฆ์ และหลวงปู่บุญอาจารย์ของท่านเป็นที่ตั้งและระมัดระวังตนอย่าประมาท เพียงเท่านี้เองไม่มีอะไรพิสดารแปลกไปกว่านี้ ท่านกล่าวว่าของศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่จิตใจคือการยึดมั่นถือมั่น และดำรงอยู่ในศีลธรรมอันดี บารมีคุณพระจึงจะปกป้องคุ้มครอง และดลบันดาลให้มีแต่ความสุขความเจริญ แต่หากปฏิบัติตนไม่เหมาะสมไม่อยู่ในศีลธรรมคุณพระย่อมไม่คุ้มครองแน่นอน

บารมีเบี้ยแก้ของหลวงปู่เพิ่มมีประสบการณ์มาก มีเรื่องเล่ากล่าวขานกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะคนนครชัยศรีและในแวดวงของศิษย์หลวงปู่แต่ละท่านจึงมีความเชื่อมั่น ในเบี้ยแก้ของหลวงปู่มาก ถึงแม้บางรายพยายามจะหาเบี้ยแก้ของหลวงปู่บุญแต่เมื่อหาไม่ได้จริง ๆ ก็ใช้เบี้ยแก้ของหลวงปู่เพิ่มแทนได้สบายมาก

เรื่องที่ผู้เขียนฟังมามากต่อมากเกี่ยวกับอภินิหารเบี้ย แก้ของหลวงปู่เพิ่มนั้นเป็นเรื่องที่ผู้อื่นประสบพบเห็นทั้งสิ้น จึงจะไม่ขอกล่าวถึงแต่จะขอเล่าเฉพาะประสบการณ์ที่ผู้เขียนเคยประสบแต่เพียง ครั้งเดียวก็คงจะพอสำหรับยืนยันเรื่องฤตยานุภาพของเบี้ยแก้หลวงปู่ได้เป็น อย่างดี

ประมาณกลางเดือนกันยายน พ.ศ. 2518 ผู้เขียนยังเป็นครูสอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนจารุพาณิชย์ บางกอกน้อย กรุงเทพฯ มีหน้าที่เป็นครูประจำชั้นและสอนชั้นเรียนของนักเรียนพาณิชย์ปีที่สาม ในห้องเรียนนั้นมีทั้งนักเรียนชายและหญิงเรียนรวมกันแบบสหศึกษา วันที่เหตุการณ์เกิดขึ้นเป็นช่วงเช้า นักเรียนมาเรียนเป็นปกติ และมีนักเรียนในห้องขาดไป 3 คน ขณะที่ผู้เขียนกำลังสอนหนังสืออยู่ก็มีเด็กนักเรียนชายรายงานตัวและบอกว่ามี เพื่อนร่วมห้องเรียน (ขอสงวนชื่อ) ซึ่งเป็นนักเรียนหญิงหลบนั่งอยู่ในร้านกาแฟปากซอยโรงเรียน

ผู้เขียนได้ยินดังนั้นความเป็นครูซึ่งอยากจะให้นักเรียน ได้ดีก็วูบขึ้นมา รีบผละจากห้องเรียนในใจนึกว่าเด็กหญิงคนนั้นคงเกเรหลบหนีการเรียน รีบเดินออกไปปากซอยในมือถือไม้เรียวไปด้วยหนึ่งอัน เผื่อว่าดื้อแพ่งก็เล่นงานกันทันที

ผู้เขียนเดินไปถึงร้านกาแฟปากซอย ก็พบนักเรียนคนนั้นจริง ๆ กำลังนั่งอยู่ในร้านกาแฟ ผู้เขียนจึงส่งเสียงเรียกดัง ๆ และสำทับว่า “เข้าโรงเรียนเดี๋ยวนี้” แต่เธอนั่งนิ่งเฉย ๆ เหมือนไม่ได้ยิน สังเกตดูดวงตาเหม่อลอย ผู้เขียนนึกแปลกจึงเข้าไปใกล้ ๆ  เรียกชื่อเธอซ้ำ ๆ กัน 2-3 ครั้ง แต่เธอก็ไม่รู้สึกตัวคงนั่งเหม่อลอยเช่นเดิม ลักษณะดังกล่าวผู้เขียนทราบได้ในขณะนั้นว่าคงเกิดเหตุผิดปกติแน่  จึงเอามือเขย่าตัวเธอดูค่อย ๆ ท่ามกลางสายตาที่มองมายังผู้เขียนนั้นเหม่อลอยเหมือนคนไม่รู้จัก ผู้เขียนพยายามจับเธอลุกขึ้นเธอก็ลุกขึ้นและจูงให้เดินตามเข้าโรงเรียน เธอก็เดินตามไม่ขัดขืนเสียงชาวบ้านวิพากษ์วิจารณ์กันต่าง ๆ นานา แต่ผู้เขียนไม่สนใจพยายามเอาเธอเข้าไปในโรงเรียนเสียก่อนเรื่องอื่นค่อยว่า กันทีหลัง

หลังจากเข้าไปนั่งในโรงเรียนแล้ว บรรดาเพื่อนครูก็มาดูกันหลายคนลงความเห็นกันไปต่าง ๆ นานา แต่สรุปได้ว่า “โรคประสาท” จึงได้โทรศัพท์ติดต่อไปที่ทำงานของบิดาเด็กหญิงคนนั้นให้มารับกลับไป ส่วนจะให้รักษากันที่ไหนอย่างไรก็คงต้องให้บิดามารดาเด็กเป็นผู้ตัดสินใจเอา เอง

นานทีเดียวที่ผู้เขียนติดตามถึงเด็กหญิงคนนั้นอยู่เสมอ ๆ บิดาของเธอพาไปรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งแต่อาการไม่ดีขึ้น มีสภาพทุกอย่างเหมือนเดิม คือไม่พูดอะไรเลยได้แต่มองไปอย่างเหม่อลอย กินอาหารเหมือนปกติและนอนหลับตามเวลา จนทางโรงพยาบาลส่งเธอกลับบ้าน ทางมารดาของเด็กหญิงผู้นั้นจึงหาวิธีการรักษาใหม่ โดยไปหาพระหมอดูทั้งทางนอกทางในดูว่าเธอเป็นอะไรกันแน่ บางรายก็ว่าผีเข้า บางแห่งก็ว่าถูกกระทำก็มี ถูกทำเสน่ห์ก็มาก ในระหว่างที่เธอมาอยู่บ้านนี้เองผู้เขียนมีเวลาว่างก็มักจะแวะไปเยี่ยมเยียน เธออยู่เสมอ ดูเหมือนอาการจะหนักขึ้น เพราะใบหน้าเริ่มดำคล้ำเครียดเคร่ง แต่ทุกอย่างทางอากัปกริยานั้นเหมือนเดิม สังเกตดูในคอของเธอมีสายสิญจน์คล้องเอาไว้ ที่ข้อมือมีด้ายสีต่าง ๆ พันไว้มากมาย แต่สิ่งเหล่านั้นดูเหมือนมิได้ช่วยอาการของเธอให้ดีขึ้นมาแต่น้อย

เพื่อนนักเรียนร่วมห้องเรียนของเธอเกือบลืมเธอไป เพราะมันนานกว่า 4 เดือนไปแล้ว ผู้เขียนเป็นครูประจำชั้นของเธอจึงไม่อาจลืมเลือนไปได้ หมั่นแวะเวียนไปดูเธออยู่เสมอ ๆ

ต้นเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 นานกว่า 5 เดือนผ่านไป เด็กหญิงคนนั้นอาการยังไม่เปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายวัดหลายสำนักที่พ่อแม่ของ เธอพาไปรักษา ทั้งรดน้ำมนต์ เป่าด้วยเวทมนตร์ แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น วันนั้นผู้เขียนไปเยี่ยมดูแลเธออีกครั้ง ขณะสนทนากับบิดาของเธอก็พลันนึกอย่างไรไม่ทราบพูดขึ้นมาเฉย ๆ ว่า “ทดลองดูเบี้ยแก้ของหลวงปู่ที่ผมนับถือท่านดูบ้างไหม” บิดาของเธอได้ยินแล้วก็ไม่รู้สึกว่าจะตื่นเต้นหรือยินดีอย่างไรเพราะเขาคง ผ่านพระผ่านวัดที่ไปรักษามามากแล้ว จนไม่มีความหวังกับอะไรทั้งสิ้น ผู้เขียนจึงว่าต่อไปว่า “ลองดูเถอะครับไม่หายก็ไม่เป็นไร” ว่าแล้วผู้เขียนก็เอาเบี้ยแก้ที่คาดอยู่ที่เอวออกมาเดินไปหาขันน้ำตักน้ำ เต็มขัน อาราธนาถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หลวงปู่บุญ หลวงปู่เพิ่ม แล้วก็เอาเบี้ยแก้แช่ไว้ในน้ำสักครู่หนึ่งก็เอาเบี้ยแก้ของหลวงปู่เพิ่มขึ้น มาคาดเอวไว้อย่างเก่า เอาน้ำในขันส่งให้บิดาของเธอบอกว่าเก็บเอาไว้กินไว้อาบ

วันรุ่งขึ้นบิดาของเด็กหญิงผู้นั้นไปพบกับผู้เขียนที่ โรงเรียน รายงานว่าได้ให้น้ำมนต์เบี้ยแก้แก่ลูกสาวของเขากินและอาบไปแล้ว เมื่อเช้าวันนี้อาการดูดีขึ้นมีการยิ้มกับมารดาของเขา ทั้งที่นานกว่า 5 เดือนมาแล้ว ผู้เขียนได้ฟังแล้วก็ดีใจจนเนื้อเต้น เพราะทำให้เธอดีขึ้นจึงบอกกับบิดาของเธอว่าให้ทำน้ำมนต์เบี้ยแก้เอาไปอีก บิดาของเธอก็กลับบอกกับผู้เขียนว่า อยากจะขอยืม “เบี้ยแก้หลวงปู่” ไปเสียเลย ผู้เขียนก็ลังเลใจเพราะเบี้ยแก้ตัวนี้เป็นของประจำตัวทำไว้ตอนบวชกับหลวงปู่ และมีกับเขาอยู่เพียงตัวเดียวเท่านั้น เมื่อคิดได้ดังนี้แล้วจึงตอบปฏิเสธไปว่าเห็นจะไม่ได้ แต่ยินดีจะพาไปทำ “เบี้ยแก้” ตัวใหม่ให้ เพราะตอนนั้นหลวงปู่ยังแข็งแรงดีสามารถทำได้

ตกลงกันได้ ดังนั้นบิดาของเด็กหญิงผู้นั้นก็รีบชวนผู้เขียนไปกันในตอนเย็นวันนั้นทันที ผู้เขียนก็จัดแจงหาวัสดุต่าง ๆ และกราบขอเมตตาหลวงปู่ทำให้จนเสร็จเรียบร้อยก็ใกล้ค่ำมอบให้ไปโดยไม่ได้ถัก เชือก บอกให้ไปเลี่ยมพลาสติกเพราะถ้าจะถักเชือกต้องคอยอีกนาน ผู้เขียนกำชับไปว่าเมื่อได้เบี้ยแก้แล้วให้เอาไปทำน้ำมนต์แบบที่ผู้เขียนทำ ในวันนั้น แล้วเอาเบี้ยแก้เลี่ยมพลาสติก แขวนคอใส่ไว้ให้ด้วย

จากนั้นอีกไม่กี่วัน เด็กหญิงคนที่เป็นลูกศิษย์ของผู้เขียนซึ่งมีอาการดังกล่าวมานานถึงกว่า 5 เดือน ก็มาโรงเรียนพร้อมด้วยบิดา – มารดาของเขา เพื่อมาขอบคุณผู้เขียนและติดต่อเรื่องการเรียนต่อ อาการทุกอย่างของเธอหายเป็นปกติอย่างอัศจรรย์ บิดาของเธอเล่าว่าวันที่ได้เบี้ยแก้จากหลวงปู่เพิ่มกลับไปก็ไปทำน้ำมนต์ให้ อาบให้กินในคืนวันนั้น แล้วก็เอาผ้ามาห่อเบี้ยแก้แขวนคอลูกสาว พอวันรุ่งขึ้นอาการก็ดีขึ้นเป็นลำดับ จนหายดีเพียงเวลาไม่กี่วัน จึงได้เอาเบี้ยแก้ไปทำตลับทองใส่ให้ติดตัวมาในวันนั้น

ผู้เขียนถามเด็กที่เป็นลูกศิษย์ว่า ระหว่างที่เป็นอยู่มีความรู้สึกอย่างไร เธอเล่าว่าไม่รู้สึกอะไรเลย เพิ่งมาได้สติไม่กี่วันมานี้เหมือนกับนอนหลับเพิ่งตื่น ส่วนสาเหตุที่เป็นนั้นไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าเป็นเพราะเหตุใด

เหตุการณ์อันอัศจรรย์นี้ผู้เขียนได้พบเห็นมาโดยตนเอง นับว่าเป็นเรื่องแปลกอย่างยิ่ง และได้นำไปเล่าให้หลวงปู่เพิ่มฟังเพื่อถามท่านว่า เด็กหญิงคนนั้นเป็นอะไรกันแน่  หลวงปู่ฟังผู้เขียนเล่าและถามแล้วท่านก็ไม่ตอบว่าอะไร ได้แต่ยิ้ม ๆ เท่านั้น

เรื่องเบี้ยแก้ของหลวงปู่มีอภินิหารนั้นมีมากจริง ๆ เล่ากันมากมาย แต่ขอนำเอาเสนอเพียงเหตุการณ์ที่ประสบกับผู้เขียนด้วยตนเอง เฉพาะเรื่องนี้ก็คงจะยืนยันถึงบารมีความศักดิ์สิทธิ์ “เบี้ยแก้” หลวงปู่ได้เป็นอย่างดี
วัดกลางบางแก้วตำบลนครชัยศรี
อำเภอนครชัยศรี  จังหวัดนครปฐม  ริมแม่น้ำท่าจีน
© 2019 Copyrigth. Watkbk.com All rigths reserved.